ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง

 

  • เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น แทนการหารเฉลี่ยเท่าๆ กันเหมือนเคย

 

     เป็นปัญหาโลกแตกในหมู่ผู้บริโภคกันมานาน เวลาต้องเข้าสังคมไปร้านอาหารกินข้าวกับเพื่อนๆ แต่ถึงเวลาเรียกเช็คบิลแล้ว จะต้องจ่ายเงินกันยังไง ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะหารเฉลี่ยเท่าๆ กันกับจำนวนคน ทั้งที่บางคนสั่งน้อย สั่งมากไม่เท่ากัน จนอาจทำให้บางคนรู้สึกเหมือนโดนเอาเปรียบได้ แต่ด้วยมารยาททางสังคม หรือความเกรงใจก็ยากที่จะพูดออกมาได้

     ล่าสุดเทรนด์พฤติกรรมดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริโภคชาวอเมริกาที่เริ่มนิยมหันมาแยกบิลจ่ายส่วนตัวกันมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องรู้สึกเขินอาย หรือต้องเกรงใจกัน จนว่ากันว่าอาจเป็นเทรนด์ใหม่ของปีเลยก็ว่าได้

แยกจ่ายไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป

     โดยกระแสดังกล่าว เริ่มขึ้นมาจากแฮชแท็ก #groupdinner จากผู้ใช้งานบน TikTok ในสหรัฐอเมริกา ที่ออกมาแชร์ประสบการณ์ไปร้านอาหารกับเพื่อนๆ และต้องมีการหารค่าใช้จ่ายเท่าๆ กัน มีผู้เข้าร่วมดูกว่า 9.6 ล้านครั้งทีเดียว โดยมีการแชร์ความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่มองว่ารู้สึกเบื่อหน่ายกับการนัดออกไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ แล้วต้องหารค่าใช้จ่ายเท่าๆ กัน ทั้งที่ตัวเองสั่งน้อยกว่า ในขณะที่เพื่อนสั่งแต่ของแพงๆ โดยมีการเชิญชวนว่าควรออกมาพูดความจริง และปฏิบัติกันอย่างเป็นธรรม ไม่ควรมีใครโดนเอาเปรียบ ความประหยัดไม่ใช่เรื่องน่าอาย ควรยกย่องสนับสนุนมากกว่าการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยของบางคนที่สั่งเยอะและแพงเกินไป ในขณะที่บางกลุ่มมองว่าไม่ใช่เรื่องซีเรียสที่ต้องจ่ายเท่าๆ กัน หากบุคคลเหล่านั้นเป็นเพื่อนสนิทที่รู้จักกันมานาน แล้วนานๆ เจอกันที อีกอย่างก็เป็นมารยาทการเข้าสังคมที่ควรทำ เพราะเป็นการเสียเวลาและยุ่งยากกับร้านค้า หลายร้านก็ไม่ได้พร้อมที่จะให้จ่ายบิลให้เสมอไป โดยมีอีกกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องที่รับได้หากทุกคนสั่งในราคาใกล้เคียงกัน

     จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการพยายามคิดแก้ปัญหา อาทิ ควรมีการกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายเบื้องต้นไปเลย ว่าแต่ละคนต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ สนใจจะเข้าร่วมหรือไม่ เพื่อให้บางคนสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายตัวเองได้ ขณะที่บางคนจะได้ไม่ต้องสั่งมากเกินไป แต่หนึ่งวิธีที่ใช้ได้ผลและเริ่มนิยมใช้กันมากขึ้น ก็คือ การนำแอปพลิเคชันมาช่วยแยกจ่าย ซึ่งความจริงแล้วการแยกจ่ายไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ การเพิ่มขึ้นของแอปเหล่านั้นต่างหาก ตัวอย่างแอปพลิเคชันดังกล่าว ได้แก่ Venmo, Zelle , PayPal และCash App

     โดยการสำรวจของ Forbes Advisor และ OnePoll ในปี 2022 จากผู้บริโภคชาวอเมริกัน 1,000 ราย พบว่า 47% ของผู้ตอบแบบสอบถามกำลังใช้แอปการชำระเงินเพื่อแบ่งบิลค่าใช้จ่ายของตัวเองเวลานัดกินข้าวร่วมกับเพื่อนๆ โดยมีการใช้งานอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง กลุ่มอายุ 18-25 ปี มีการใช้งานกว่า 60% ตามมาด้วยกลุ่มอายุ 26-41 ปี คิดเป็น 58%

ทำไมผู้บริโภคหันมาแยกบิลจ่ายกันเยอะขึ้น

     ถามว่าอะไร คือ เหตุผลทำให้ผู้บริโภคหลายคนเริ่มหันมากล้าที่จะบอกเจตนาแยกบิลจ่าย รับผิดชอบเฉพาะค่าใช้จ่ายตัวเองกันมากขึ้น จนเกิดเป็นเทรนด์ขึ้นมา มีการวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจาก 2 เหตุผลสำคัญ คือ

     1.ภาวะเงินเฟ้อ สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหลายคนเริ่มเกิดความคิดที่อยากประหยัด ต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย ทำให้ไม่อยากโดนเอาเปรียบ จึงอยากรับผิดชอบเฉพาะในส่วนของตัวเอง

     2.เทคโนโลยีที่สะดวกสบายมากขึ้น ทุกคนสามารถจ่ายผ่านแอปธนาคารในสมาร์ทโฟนของตัวเองได้ จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้หันมานิยมใช้กันมากขึ้น

     ซึ่งการใช้งานนั้นก็แสนง่าย ตัวอย่าง เช่น แอป Venmo ที่แค่ลงทะเบียนผ่าน Facebook กรอกข้อมูลและรหัสเพื่อลิงก์กับ Online Banking หรือบัตรเดบิต โดยไม่ต้องขอรายละเอียดเลขบัญชี ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ไม่ต้องรู้อีเมลล์ใดๆ เพียงแค่พิมพ์ชื่อของเพื่อนที่เราต้องการจะโอนเงินให้ Venmo ก็จะโชว์ชื่อเพื่อนบน Facebook จากนั้นก็สามารถกดระบุจำนวนที่ต้องการจ่าย และกดปุ่มจ่ายได้ทันทีเลย

ในไทยก็มีแล้วนะ

     สำหรับในไทยเอง แม้แอปพลิเคชันดังกล่าวยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมนำมาใช้สักเท่าไหร่ แต่ก็เริ่มมีหลายโปรแกรมสำหรับร้านอาหาร เช่น ระบบ POS หรือระบบขายหน้าร้าน ที่สามารถแยกบิลให้ลูกค้าได้ เช่น มาโต๊ะเดียวกัน แต่แยกรายการจ่าย หรือบิลเดียวกัน แต่แยกจ่ายเป็นเงินสดและบัตรเครดิต หรือวิธีอื่นๆ ไปจนถึงย้ายโต๊ะมานั่งรวมกัน (เจอกันโดยบังเอิญ) แต่อยากแยกจ่ายเฉพาะโต๊ะตัวเองก็ได้ ตัวอย่างระบบ POS ที่มีฟีเจอร์ดังกล่าว ก็เช่น Wongnai POS, Ocha POS, ChexBill™,  Multi Payment และ Qashier เป็นต้น

     และนี่คือ หนึ่งในตัวอย่างเทรนด์ที่เกิดมาจาก Pain Point จุดเล็กๆ ของผู้บริโภค ซึ่งหากสามารถจับความต้องการ นำมาต่อยอด แก้ไขปัญหาให้ได้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจได้ หากผู้ประกอบการร้านอาหารคนใดจะลองนำไปใช้เพิ่มฟังก์ชั่นแยกจ่ายบิลให้กับลูกค้าเลือกได้ โดยไม่ทำให้เป็นเรื่องรู้สึกอึดอัดใจ หรือน่าอาย ก็น่าจะช่วยเพิ่มยอดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการเยอะขึ้นอีกเป็นกองเลยทีเดียว

ที่มา : https://www.businessinsider.com/splitting-check-restaurant-etiquette-group-debate-expert-2024-1

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน