โอกาสธุรกิจแมลง ทางเลือกโปรตีนสุดล้ำสำหรับ SME

     ถ้าพูดถึงโปรตีน หลายคนอาจนึกถึงเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือปลา แต่รู้ไหมว่า ‘แมลง’ กำลังกลายเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่มาแรงสุด ๆ ในยุคนี้! ไม่ใช่แค่แปลกใหม่ แต่ยังเต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและมีบทบาทสำคัญต่อความยั่งยืนของโลก

     ทำไมธุรกิจแมลงถึงมาแรง อุตสาหกรรมแมลงกินได้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย (CAGR) 25.1% ระหว่างปี 2025-2030 นี่ไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการสร้างธุรกิจที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่และใส่ใจสิ่งแวดล้อม

     แมลงโปรตีนแห่งอนาคต ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี แต่ยังใช้ทรัพยากรน้อยกว่าปศุสัตว์มาก เช่น การเลี้ยงแมลง 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) น้อยกว่าเนื้อสัตว์ถึง 27-40 เท่า และใช้พื้นที่และน้ำน้อยกว่า 5-13 เท่า ซึ่งเหมาะสำหรับยุคที่ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มหายากขึ้น

โอกาสประเทศไทยต่อการพัฒนาตลาดแมลงกินได้

     1. องค์ความรู้การเพาะเลี้ยง และตลาดในประเทศรองรับ

          ประเทศไทยมีองค์ความรู้พื้นบ้านในการจับ เลี้ยง และปรุงแมลงเพื่อบริโภคหลากหลายชนิด เช่น จิ้งหรีด ดักแด้ แมงดา โดยสามารถผลิตแมลงเศรษฐกิจได้มากกว่า 7,000 ตันต่อปี ปัจจุบันตลาดภายในประเทศให้การตอบรับที่ดีต่อแมลงกินได้ โดยมีการแปรรูป และจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ทั้งในตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร ทำให้การเลี้ยงแมลงมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและสามารถพัฒนาให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนในระดับครัวเรือนได้

     2. ตัวเลือกที่ยั่งยืน ประหยัดทรัพยากร ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก

          ภาคปศุสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 7.1 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq) ต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 14.5% ของก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเริ่มหันมาบริโภคโปรตีนจากแมลงแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากขึ้น

          การผลิตโปรตีนจากแมลง 1 กิโลกรัม ปล่อย GHG เพียง 1 กิโลกรัม CO2eq น้อยกว่าการทำปศุสัตว์ถึง 27-40 เท่าเมื่อเทียบกับปริมาณโปรตีนที่ได้รับจากปศุสัตว์ในปริมาณที่เท่ากัน นอกจากนี้ ฟาร์มแมลงสามารถเลี้ยงในพื้นที่จำกัด ใช้น้ำน้อย และต้องการอาหารน้อยกว่าปศุสัตว์อื่น เช่น วัว หมู ไก่ ถึง 5-13 เท่า ทำให้ฟาร์มแมลงเป็นทางเลือกที่ต้นทุนทรัพยากรต่ำและยั่งยืนกว่า

     3. อากาศร้อน และแนวโน้มอุณหภูมิที่สูงขึ้น

          ส่งผลให้การเพาะเลี้ยงแมลงยิ่งได้เปรียบ ในอนาคต แมลงอาจเป็นแหล่งโปรตีนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากสามารถเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ขณะที่ปศุสัตว์ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

          อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อปศุสัตว์ เช่น วัว หมู ไก่ โดยลดอัตราการเจริญเติบโต เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียและปรสิต และลดผลผลิต เช่น เนื้อไก่และนมวัว สูงถึง 38% แต่แมลงมีความสามารถในการปรับตัวต่ออุณหภูมิสูงได้ดีกว่า และบางชนิดอาจเติบโตได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถผลิตโปรตีนได้มากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอาจส่งผลเสียต่อการเติบโตและความหลากหลายของสายพันธุ์แมลงบางชนิด เช่น ผึ้ง ผีเสื้อ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ดังนั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อปกป้องระบบนิเวศในระยะยาว

ตลาดค้าแมลงของโลกเป็นอย่างไร?

     ตลาดแมลงกินได้ทั่วโลกกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2024 มีมูลค่าราว 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 25.1% ระหว่างปี 2025-2030 ความต้องการโปรตีนจากแมลงเพิ่มขึ้นในยุโรป อเมริกา และเอเชียตะวันออก โดยใช้ในรูปแบบโปรตีนผง (Powder) โปรตีนอัดแท่ง (Protein Bar) และอาหารสัตว์

     สำหรับประเทศไทย เป็นผู้ส่งออกแมลงอันดับ 6 ของโลก มีสัดส่วน 6% ของมูลค่าการส่งออกแมลงทั้งหมด หรือประมาณ 5.86 แสนดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ส่วนผู้เล่นหลักในตลาดแมลงโลก ได้แก่ สเปน จีน และออสเตรเลีย ที่รวมกันครองสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด

ความท้าทาย

     ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตแมลงรายใหญ่ และมีแมลงกินได้ที่มีโปรตีนสูงหลายชนิดสามารถเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้ เช่น จิ้งหรีด หนอนไม้ไผ่ แมงมัน ดักแด้ไหม หนอนนก ถึงแม้ปัจจุบัน มูลค่าการส่งออกแมลงยังคงมีมูลค่าไม่มาก แต่ในอนาคตด้วยกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และแนวโน้มอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น อาจเป็นส่วนช่วยให้ตลาดแมลงกินได้ไทยขยายตัวได้มากยิ่งขึ้น

     การยอมรับของผู้บริโภคยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากความรู้สึกไม่คุ้นเคยและความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร อีกทั้งยังคงต้องติดตามผลกระทบด้านอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น หรือที่อาจเปลี่ยนไปในกรณีการผลิตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศแตกต่างกัน

 อ    กจากนี้ การขึ้นเป็นผู้นำในตลาดแมลงกินได้ของโลก อาจจะต้องแข่งขันกับผู้นำตลาดแมลงกินได้ ได้แก่ สเปน จีน และออสเตรเลีย ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกรวมกันประมาณ 64% และมีจุดแข็งจากการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งไทยอาจนำมาเป็นแนวทางพัฒนา (ภาคผนวก ตารางที่ 1)

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แมลงมีแนวโน้มได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตในอนาคต เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้แมลงสามารถเลี้ยงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่าปศุสัตว์โดยเปรียบเทียบ ทั้งนี้ ต้นทุนการลงทุนเบื้องต้นของฟาร์มขนาดพื้นฐานในการเลี้ยงแมลง เช่น จิ้งหรีด อยู่ในระดับไม่สูงมากนัก เพียงประมาณ 45,000 – 75,000 บาท สามารถสร้างกำไรจากการจำหน่ายแมลงสด 9,600 – 37,000 บาท/ปี และหากสามารถแปรรูปเป็นแป้งแมลงจะทำให้กำไรสูงขึ้นเป็น 260,000 บาท/ปี

     นอกจากนี้ หากพิจารณาปัจจัยด้านการใช้พื้นที่เลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงแมลงจะทำกำไรต่อตารางเมตรได้สูงถึง 9,300 บาท/ตร.ม. ขณะที่ปศุสัตว์อื่น เช่น ไก่เนื้อ และโคนม สามารถทำกำไรได้ราว 1,500 บาท/ตร.ม.

     ด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น องค์ความรู้ ภูมิอากาศ เทรนด์โลก ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงทั้งด้านการผลิตและส่งออกแมลง ซึ่งหากได้รับการผลักดัน และส่งเสริมการบริโภคแมลงในประเทศควบคู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐ อาจช่วยสร้างรายได้มหาศาลและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว จึงอาจเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืนของไทยและของโลกในอนาคต

     ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

โพสต์ให้ปังด้วยพลัง AI! 6 เทคนิคสร้างคอนเทนต์ที่ขายของได้จริง

ไม่ว่าคุณจะเป็นแม่ค้าออนไลน์ เจ้าของแบรนด์ ทีมการตลาด หรือครีเอเตอร์มือใหม่ AI ก็สามารถช่วยคุณสร้างสรรค์คอนเทนต์ปังที่จะช่วยในการเจาะตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น

ไทยเที่ยวไทยปี 68 'เมืองรอง' คือขุมทรัพย์ใหม่ เมื่อคนไทยเที่ยวถี่ขึ้น เน้นไป-กลับ

เจาะลึก "เทรนด์ไทยเที่ยวไทย ปี 2568" ว่าทำไมตลาดไม่ถอยเสียทีเดียว แต่เปลี่ยนเกม และคุณต้องเปลี่ยนตามให้ไว ก่อนจะตามไม่ทัน

ส่งออกหลักล้านไม่ใช่เรื่องไกลตัว เปิดสูตรลับ 2 แบรนด์ไทยบุกอาเซียน ด้วย Shopee International Platform

ความท้าทายในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะช่องทางออนไลน์เป็นโอกาสที่เปิดกว้างขึ้น วันนี้จะพาไปรู้จัก Shopee International Platform (SIP) โปรแกรมที่เป็นมากกว่าช่องทางขายสินค้าออนไลน์ต่างประเทศ