รวม 6 แบรนด์ Local ค้าปลีก-ส่ง ในตำนาน มัดใจลูกค้า ด้วยกลยุทธ์แบบไทยๆ

Text : Sir.nim


     จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรรายงานว่าตลาดธุรกิจค้าปลีกไทยปี 2567 มีมูลค่ากว่า 4.12 ล้านล้านบาท แน่นอนมูลค่ารวมของตลาดส่วนใหญ่ย่อมเทไปทางห้างโมเดิร์นเทรด เชนห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อที่กระจายสาขาอยู่ทั่วประเทศ

     แต่ในสัดส่วนที่เล็กกว่านั้น ยังมีส่วนแบ่งจากห้างท้องถิ่น ทั้งค้าปลีกและค้าส่ง ที่เปิดตัวมายาวนานอยู่ในพื้นที่ เป็นที่พึ่งพาของคนในท้องที่ทั้งการบริโภคอุปโภค ไปจนถึงสถานที่ทำกิจกรรมสันทนาการ พบปะสังสรรค์ซึ่งกันและกัน ทำให้แม้จะมีการมาของห้างใหญ่ แต่ห้างท้องถิ่นเหล่านั้น ก็ยังคงมัดใจลูกค้าในพื้นที่ได้ วันนี้เลยอยากชวนมาดูกลยุทธ์การทำธุรกิจจากห้างโลคอลเหล่านี้กัน

ทำไมห้างโลคอล ถึงมัดใจลูกค้าท้องถิ่นได้

     โดยส่วนใหญ่แล้วห้างท้องถิ่นตามต่างจังหวัดต่างๆ ในไทย มักจะต่อยอดธุรกิจในรูปแบบของยี่ปั๊ว ‘ผู้ค้าส่ง’ หรือพ่อค้าคนกลางที่รับสินค้าจากผู้ผลิต (เถาปั๊ว) และนำไปขายส่งให้แก่ร้านค้าปลีกต่างๆ ไปจนถึงประชาชนผู้บริโภคบ้างบางส่วน จนเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นก็มีการขยายกิจการให้เติบโต โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1.ยี่ปั๊วที่ขยายกิจการให้เติบโตเป็นสาขาใหญ่ ไม่เน้นการขยายสาขามาก เช่น เล้งเส็ง จ.สกลนคร, ตั้งงี่สุน จ.อุดรธานี และ 2.ยี่ปั๊วที่ผันตัวมาทำค้าปลีกในรูปแบบเชนสาขาย่อย เช่น ชุปเปอร์ชีป จ.ภูเก็ต, ธนพิริยะ จ.เชียงราย

     แต่ไม่ว่าจะเป็นลักษณะไหน สิ่งหนึ่งที่ห้างโลคอลเหล่านั้นมีคล้ายๆ กัน คือ เสน่ห์การทำธุรกิจที่เป็นแบบเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ห้างต่างชาติใหญ่ๆ ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ โดยมองว่า 3 ส่วนที่ทำให้ห้างท้องถิ่นสามารถมัดใจลูกค้าได้ คือ

     1. ความผูกพันกับชุมชน เนื่องจากห้างท้องถิ่นส่วนใหญ่มีอายุหลายสิบปีขึ้นไป เช่น ห้างพวงทอง อำเภอพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ที่เปิดร้านสาขาแรกในปี 2516

     2. การคัดสรรสินค้าให้โดนใจคนท้องถิ่น นอกจากสินค้าทั่วไป ห้างทองถิ่นต่างๆ มักเอาใจลูกค้าด้วยการสรรหาสินค้าที่คนในท้องที่นั้นๆ ต้องการ บางอย่างจึงมีความเฉพาะตัว ที่หาซื้อไม่ได้จากห้างร้านทั่วไป เช่น ซุปเปอร์ชีป จ.ภูเก็ต ที่มีการนำเรือไม้มาจำหน่ายด้วย

     3. ราคาย่อมเยา ห้างท้องถิ่นมักมีการจำหน่ายสินค้าในราคาถูก เนื่องจากเป็นตัวกลางในการรับสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง จึงสามารถนำมาทำราคาให้ถูกลงกว่าท้องตลาด โดยเน้นขายในปริมาณเยอะๆ แทน กำไรน้อยหน่อย แต่ขายได้เยอะกว่า       

6 กลยุทธ์ จาก 6 ห้างโลคอลชื่อดัง

     - ชุปเปอร์ชีป จ.ภูเก็ต

          ซุปเปอร์ชีป (Super Cheap) ร้านค้าส่งและค้าปลีกของภูเก็ต ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 เริ่มต้นจากร้านสาขาใหญ่ที่ต่อมาขยายพื้นที่ออกไปกว่า 50 ไร่ เป็นทั้งพื้นที่จำหน่ายสินค้าและพื้นที่จัดเก็บสต็อก ซึ่งเพิ่มขึ้นตามความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในท้องถิ่น ปัจจุบันขยายธุรกิจออกไปในรูปแบบห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และร้านสาขาย่อยในรูปแบบมินิมาร์ทอีกเกือบร้อยแห่ง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดในภาคใต้ รวมถึงในกรุงเทพฯ กลยุทธ์การทำธุรกิจของซุปเปอร์ชีป มุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้า โดยพยายามทำราคาให้ถูกที่สุด ตั้งแต่การเจรจาซื้อสินค้ากับซัพพลายเออร์ในปริมาณมาก เพื่อให้ได้ราคาถูก เพื่อนำมาขายต่อในราคาย่อมเยา ไปจนถึงการตัดต้นทุนแฝงต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น ค่าแอร์, ค่าการตกแต่งสถานที่

     - เล้งเส็ง จ.สกลนคร

           เล้งเส็ง กรุ๊ป ก่อตั้งธุรกิจในปี 2500 เริ่มต้นมาจากร้านขายข้าวสารเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร ที่ต่อมาขยายกิจการสู่ธุรกิจค้าปลีก-ส่งครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคอีสาน ปัจจุบันดูแลกิจการโดยทายาทรุ่นที่ 3 นอกจากขายสินค้าราคาย่อมเยาให้ลูกค้าทั่วไปได้เลือกใช้ เล้งเส็งยังให้ความสำคัญกับคู่ค้าหรือลูกค้าที่เป็นร้านค้าโชห่วยและร้านค้าท้องถิ่นด้วย ด้วยการพยายามเข้าไปช่วยพัฒนาให้ความรู้ต่างๆ เช่น การบริหารธุรกิจช่วงโควิด-19 เพื่อให้ธุรกิจผ่านพ้นวิกฤต โดยเชื่อว่าหากลูกค้าเติบโตได้มากเท่าไหร่ ธุรกิจก็จะเติบโตได้มากขึ้นเท่านั้น มีคติประจำธุรกิจว่า “อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย”

     - ธนพิริยะ จ.เชียงราย

          ก่อตั้งธุรกิจขึ้นเมื่อปี 2508 โดยครอบครัวพุฒิพิริยะ เริ่มต้นจากร้านแผงลอยเล็กๆ ในเทศบาลเชียงรายใช้ชื่อว่า “โง้วทองชัย” รูปแบบธุรกิจปัจจุบันมีทั้งสาขาใหญ่ที่จังหวัดเชียงราย และรูปแบบสาขาย่อยแบบมินิมาร์ทรวมแล้ว 50 กว่าแห่งได้ ที่สำคัญมีการนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อการอัพสเกลที่เติบโตมากขึ้น สิ่งที่แบรนด์ธนพิริยะใช้เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจมาตลอด ก็คือ ความซื่อสัตย์ เริ่มตั้งแต่กระบวนการหลังบ้าน เช่น การทำบัญชีต้องโปร่งใส ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ไปจนถึงความซื่อสัตย์ในการจำหน่ายสินค้ามีการตรวจเช็คสินค้า ตรวจสอบ Shel life อย่างเข้มงวด นอกจากนี้ยังเคียงข้างชุมชน เช่น หากเป็นสินค้าจากในชุมชนมาวางจำหน่าย จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม มีเพียงค่าบริการพนักงานเท่านั้น

     - ตั้งงี่สุน จ.อุดรธานี

          ก่อตั้งธุรกิจมาราว 80 กว่าปี ปัจจุบันบริหารกิจการโดยทายาทรุ่นที่ 4 โดยเริ่มต้นมาจากร้านโชห่วยเล็กๆ ที่ต่อมาขยายกิจการจนกลายเป็นซูเปอร์สโตร์ของจังหวัด การเติบโตทางธุรกิจของตั้งงี่สุน เน้นไปที่การขยายสาขาหลัก ไม่เน้นขยายสาขามาก เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ แต่ต้องอยู่ในทำเลที่ลูกค้าเดินทางสะดวก ทำให้ไม่ว่าลูกค้าจากที่ไหน ก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย ปัจจุบันจึงมีเพียง 2 สาขาใหญ่ สำหรับกลยุทธ์การทำธุรกิจ จะเน้นที่ “ลด แลก แจก แถม” เพื่อเป็นแรงจูงใจลูกค้า และเอาชนะคู่แข่งได้ โดยจะแพ็กสินค้าสำหรับแถมแนบไปพร้อมกับสินค้าหลักไปเลยพร้อมกันทีเดียว ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

      - แจ่มฟ้า จ.ลำพูน

          เริ่มต้นมาจากร้านตัดเสื้อเล็กๆ ในจังหวัดลำพูน ก่อตั้งในปี 2495 ที่เริ่มหาสินค้าต่างๆ มาวางจำหน่ายเพิ่ม เพื่อหารายได้เพิ่ม เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป, ของชำ จนต่อมาขยายกิจการเพิ่มสู่ห้างสรรพสินค้าประจำจังหวัด ปัจจุบันดำเนินกิจการในรูปแบบช้อปปิ้งมอลล์ สำหรับสาขาใหญ่ และรูปแบบเซฟมาร์ท จำหน่ายสินค้าราคาประหยัด กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ กลยุทธ์ที่เป็นจุดเด่นของธุรกิจ คือ การขายสินค้าราคายุติธรรม และบริการประทับใจ มีการจัดโปรโมชั่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อความคุ้มค่าแก่ลูกค้า นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมพนักงานก่อนปฏิบัติงานจริง มีการประเมินทุกวัน เพื่อรักษามาตรฐานบริการ สโลแกนประจำของธุรกิจ คือ “ถูกจริง ประทับใจ ไปแจ่มฟ้า”

     - พวงทอง จ.ฉะเชิงเทรา

          ถ้าที่อื่นเป็นห้างดังประจำจังหวัด พวงทอง คือ หนึ่งในไม่กี่แห่งที่เป็นห้างดังของอำเภอ และจังหวัดพร้อมกันในคราวเดียวใน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็นห้างโลคอลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวค่อนข้างชัดเจน ตั้งแต่รูปแบบการบริการที่เป็นกันเองกับลูกค้า ที่ห้างพวงทองมีกฎว่า “ห้ามไหว้ลูกค้า แต่ให้ยิ้มให้แทน และห้ามแต่งตัวสวยกว่าลูกค้า” ชุดยูนิฟอร์มก็เป็นแบบเรียบง่าย เพราะรู้ว่าลูกค้าท้องถิ่นเวลามาซื้อสินค้า ก็มักใส่ชุดอยู่บ้านมาแบบง่ายๆ เพื่อให้ลูกค้าจะได้รู้สึกสบายๆ ไม่ต้องเกร็ง เวลามาเลือกซื้อสินค้า

          นอกจากนี้ยังมีการแต่งคำกลอนเขียนติดไว้ตามจุดต่างๆ ในห้าง รวมถึงตัวสินค้า เพื่อส่งเสริมการขาย สร้างรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะให้ลูกค้า เรื่องราคาไม่ต้องพูดถึงที่ห้างยักษ์ใหญ่ไม่สามารถเข้ามาตีได้แตก เป็นเพราะการใช้กลยุทธ์ทำงานเป็นทีม เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคู่ค้ารายใหม่เข้ามาเล่น พวงทองจะใช้วิธีพร้อมใจกันดั๊มราคาสินค้าลงทั้ง 5 สาขา เพื่อตรึงฐานลูกค้าไว้กับตัวให้ได้มากที่สุด

     และนี่คือ ตัวอย่างกลยุทธ์การทำธุรกิจของห้างโลคอล ที่แม้จะไม่ได้โด่งดัง ขยายสาขาไปได้ไกลทั่วประเทศ แต่ก็สามารถชนะใจคนพื้นที่ได้ โดยที่ยักษ์ใหญ่เองก็ไม่สามารถเจาะทลายเข้ามาได้

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ถึงเวลาก็ต้อง...ขยับขยาย ส่อง 3 Beauty Blogger แตกไลน์สู่สายธุรกิจ

เหล่า Blogger ยุคเก๋าที่โลดแล่นอยู่ในวงการโซเชียลมาอย่างยาวนาน ต่างเริ่มต้นขยับขยายจากการเป็นแค่อาชีพ Blogger ข้ามสู่เส้นทางธุรกิจ และนี่คือธุรกิจจาก 3 Beauty Blogger ชื่อดัง ที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางนักธุรกิจแบบเต็มตัว

10 เทรนด์ Future Food โอกาสใหม่ธุรกิจไทย

โลกของอาหารกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่ความอร่อย หรือแพ็กเกจที่สวยงามอีกต่อไป แต่ผู้บริโภคมองลึกถึง “วัตถุดิบ สุขภาพ ความยั่งยืน และนวัตกรรม” และเทรนด์ที่น่าสนใจนี้ เรียกว่า “Future Food” ซึ่งจะมาสร้างโอกาสทองให้ธุรกิจไทย

MUJI vs IKEA กลยุทธ์สร้างแบรนด์ต่างกันสุดขั้ว แต่ทั่วโลกต้องจดจำ

MUJI และ IKEA อาจดูเหมือนแบรนด์ที่อยู่กันคนละจักรวาล แบรนด์หนึ่งมองว่าความเรียบง่ายคือความงาม อีกแบรนด์เชื่อว่าประสบการณ์ที่ดี ต้องเริ่มจากความสนุก แล้วทำไมพวกเขาทั้งคู่ถึงเป็นที่รักของผู้คนในทุกมุมโลก?