ไทยเที่ยวไทยปี 68 'เมืองรอง' คือขุมทรัพย์ใหม่ เมื่อคนไทยเที่ยวถี่ขึ้น เน้นไป-กลับ

     แม้ภาพรวม "ไทยเที่ยวไทย" ปี 2568 จะเติบโตชะลอลง  ในความท้าทายนี้กลับมี “โอกาสใหม่” ซ่อนอยู่… เมืองรองที่เคยเงียบ กลับเริ่มมีคนแน่น ถนนสายรองเริ่มมีชีวิต เพราะคนไทยยังอยากเที่ยว เพียงแต่ เปลี่ยนวิธีเที่ยว เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนเมืองที่เลือกไป

     บทความนี้จะพาคุณเจาะลึก "เทรนด์ไทยเที่ยวไทย ปี 2568" ว่าทำไมตลาดไม่ถอยเสียทีเดียว แต่เปลี่ยนเกม และคุณต้องเปลี่ยนตามให้ไว ก่อนจะตามไม่ทัo

ตลาดไทยเที่ยวไทยปี 2568: โตแบบเหนื่อยๆ ในภาวะที่ท้าทาย

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปี 2568 คนไทยจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศรวม 205 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 2.2% จากปีก่อน แต่เป็นการเติบโตที่ชะลอลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท โตเพียง 2% ซึ่งชะลอลงจากปีก่อนเช่นกัน

     สาเหตุหลักมาจากปัจจัยลบรุมเร้า ทั้งเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัว ปัญหาการเมืองในประเทศ ความเปราะบางของกำลังซื้อผู้บริโภค รวมถึงภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวที่กระทบการเดินทาง โดยเฉพาะในจังหวัดยอดนิยมอย่างกรุงเทพฯ กระบี่ อยุธยา และจันทบุรีที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยลดลง

     ยิ่งไปกว่านั้น การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทยเพิ่มขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการวีซ่าฟรี และโปรโมชันจากบริษัททัวร์ที่ทำให้เที่ยวต่างประเทศบางแห่ง “ถูกกว่าเที่ยวไทย” เช่น แพ็กเกจเกาหลีใต้ 4 วัน 2 คืน ราคาเริ่มต้นเพียง 6,000 บาท หรือเวียดนามเริ่มต้นที่ 7,000 บาท

ครึ่งปีแรก 2568: โตแบบพอประคองตัว

     ในช่วง ครึ่งแรกของปี 2568 คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณ 101 ล้านคน-ครั้ง โต 2.3% (YoY) โดยสร้างรายได้ 574,426 ล้านบาท เติบโต 3.5% (YoY)

     ถึงแม้เศรษฐกิจและความเชื่อมั่นจะยังไม่ฟื้นเต็มที่ แต่ยังพอมีปัจจัยบวกอย่าง โครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง ที่รัฐบาลช่วยจ่ายค่าที่พักสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน จำนวน 500,000 สิทธิ์ และการแจก คูปองดิจิทัล เพื่อกระตุ้นการจับจ่าย

ครึ่งปีหลัง 2568: ยังพอมีแรง แต่ต้องจับตาใกล้ชิด

     ในช่วง ครึ่งหลังของปี แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวยังโตต่อ แต่ ชะลอลงมาอยู่ที่ 1.4% (YoY) จากแรงหนุนของความต้องการท่องเที่ยวที่ยังมีอยู่ และมาตรการกระตุ้นของรัฐ

     แต่ในอีกด้าน ตลาดยังต้องรับแรงกดดันจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการแข่งขันกับการท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้มข้นขึ้นต่อเนื่อง

เทรนด์มาแรง: เมืองรอง-เมืองน่าเที่ยวกำลังชนะใจคนไทย

     หนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าจับตาที่สุดของปีนี้คือ เทรนด์การท่องเที่ยว “เมืองรอง” ที่มาแรงเกินคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า สัดส่วนคนไทยเที่ยวเมืองรองในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็น 41.4% เพิ่มขึ้นจาก 41.3% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี และพุ่งขึ้นจาก 32.3% ในช่วงเดียวกันของปี 2562 (ก่อนโควิด-19) จังหวัดเมืองรองที่น่าสนใจ เช่น สุพรรณบุรี เชียงราย สมุทรสงคราม อุบลราชธานี ต่างมีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางเกิน 2 ล้านคน มากกว่าหลายจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น สงขลา (1.4 ล้านคน) หรือพังงา (6.5 แสนคน)

     ปัจจัยที่ผลักดันเมืองรองให้เติบโต ได้แก่

          - ความต้องการหลีกเลี่ยงความแออัด

          - การค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ

          - แรงหนุนจากรีวิวในโซเชียลมีเดีย

          - ความนิยมในการท่องเที่ยวเชิงศาสนา

โอกาสทางธุรกิจ: เมืองรองกำลังสร้าง “ตลาดใหม่”

     แม้การท่องเที่ยวเมืองรองจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ รายได้ยังคิดเป็นเพียง 28% ของรายได้รวมจากไทยเที่ยวไทย ซึ่งยังตามหลังเมืองท่องเที่ยวหลักที่ครองสัดส่วนรายได้ถึง 72%

     ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน/ครั้งในเมืองรองอยู่ที่ 2,800 บาท ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเมืองหลักที่ 5,000 บาท/คน/ครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากค่าบริการที่พักและอาหารที่ถูกกว่า เช่น

     โรงแรม 4 ดาวในเมืองรอง ราคาเฉลี่ย 1,850 บาท/คืน เทียบกับกรุงเทพฯ หรือภูเก็ต ราคาเฉลี่ย 3,500 บาท/คืน

     อย่างไรก็ตาม นี่คือโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการ หากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มหรือประสบการณ์เฉพาะตัวในเมืองรองได้ เช่น กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม, ฟาร์มทัวร์, แคมป์ธรรมชาติ, หรือแพลตฟอร์มรีวิว-จองที่พักในเมืองรองโดยเฉพาะ

พฤติกรรมใหม่ของนักท่องเที่ยวไทย: ไปเช้าเย็นกลับ – ประหยัด – แต่ยังอยากเที่ยว

     คนไทยในปี 2568 มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด โดยกว่า 51% นิยมเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับ เป็นเทรนด์ที่เพิ่มขึ้น และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยยังต่ำกว่าก่อนโควิด-19 ซึ่งปี 2562 ค่าใช้จ่ายต่อคน/ครั้งเคยสูงกว่าระดับ 4,100 บาทที่คาดการณ์ในปีนี้

     แม้การเติบโตของตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2568 จะชะลอลง แต่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงนี้ซ่อน “โอกาส” ไว้อย่างชัดเจน

     - เมืองรองคือพื้นที่ที่กำลังสร้างนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่

     - การใช้จ่ายที่แม้จะไม่สูง แต่กลับมีพฤติกรรมการเดินทางที่ชัดเจนขึ้น

     - รัฐยังเดินหน้าสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวผ่านโครงการต่างๆ

     นักธุรกิจท่องเที่ยวควรมองให้ลึกกว่าตัวเลข และปรับตัวตามพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค เพื่อคว้าโอกาสจากการท่องเที่ยวแบบเนิบช้า แต่มาแรงในเมืองรอง

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

โพสต์ให้ปังด้วยพลัง AI! 6 เทคนิคสร้างคอนเทนต์ที่ขายของได้จริง

ไม่ว่าคุณจะเป็นแม่ค้าออนไลน์ เจ้าของแบรนด์ ทีมการตลาด หรือครีเอเตอร์มือใหม่ AI ก็สามารถช่วยคุณสร้างสรรค์คอนเทนต์ปังที่จะช่วยในการเจาะตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น

ส่งออกหลักล้านไม่ใช่เรื่องไกลตัว เปิดสูตรลับ 2 แบรนด์ไทยบุกอาเซียน ด้วย Shopee International Platform

ความท้าทายในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะช่องทางออนไลน์เป็นโอกาสที่เปิดกว้างขึ้น วันนี้จะพาไปรู้จัก Shopee International Platform (SIP) โปรแกรมที่เป็นมากกว่าช่องทางขายสินค้าออนไลน์ต่างประเทศ

ยิ่งให้ ยิ่งโต 3 กลยุทธ์ธุรกิจแห่งอนาคตที่ได้ใจผู้บริโภครุ่นใหม่

เพราะธุรกิจที่เติบโตอย่างแข็งแรงในวันนี้ ไม่ใช่แค่แบรนด์ที่ “ขายของดี” แต่คือแบรนด์ที่ “มีความหมายให้ลูกค้าอยากจ่าย”มาดู 3 กลยุทธ์จากแบรนด์ระดับโลกที่กล้าให้…และเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยหัวใจ