Ipsos เผยเศรษฐกิจแย่ คนไทยกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด? คอร์รัปชัน – การเงิน – ความเหลื่อมล้ำ มาเป็นอันดับต้น

เรียบเรียง : Surangrak


     ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย ที่ยังดูขาดความเชื่อมั่นและ มั่นคงว่าจะไปต่อทิศทางไหน

     บริษัท อิปซอสส์ จำกัด (Ipsos Ltd.) ผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค ได้เปิดตัวรายงานชุด "What Worries Thailand H1 2025" เจาะอินไซต์ความกังวลใจสูงสุดของคนไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2568 ซึ่งเป็นการศึกษาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565

     โดยรวบรวมข้อมูลจากผลสำรวจหลายฉบับ ประกอบด้วย “What Worries the World June 2025” จากกลุ่มตัวอย่าง 24,737 คน ใน 30 ประเทศ (เก็บข้อมูลวันที่ 25 เม.ย-9 พฤษภาคม 2568), “Ipsos Populism Report 2025” : จากกลุ่มตัวอย่าง 23,228 คน ใน 31 ประเทศ (เก็บข้อมูลวันที่ 21 ก.พ-7 มี.ค 2568) และ International Women’s Day 2025 : จากกลุ่มตัวอย่าง 23,765 คน ใน 30 ประเทศ (เก็บข้อมูลวันที่ 20 ธ.ค 2567-3 ม.ค 2568 (หมายเหตุ : ทุกกลุ่มตัวอย่างมีอายุ 16-74 ปี และกลุ่มตัวอย่างชาวไทย 500 คน อายุ 20-74 ปี)               

     อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ และ พิมพ์ทัย สุวรรณศุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ได้สรุปอินไซต์คนไทย ไว้ดังนี้

ด้านสังคม

     1. คนไทยกังวลเรื่อง ‘คอร์รัปชัน’ เป็นอันดับหนึ่ง แต่เป็นอันดับสุดท้ายของทั่วโลก โดยพบว่า อันดับหนึ่ง ที่คนไทยกังวลใจมากที่สุด ก็คือ การเงินและการทุจริตทางการเมือง 45% รองลงมา คือ ความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางสังคม 37% ซึ่งก็ค่อนข้างสูงไม่ต่าง อันดับสาม คือ การว่างงาน 31% อันดับสี่ - ภาวะเงินเฟ้อ 24% และอันดับห้า คือ อาชญากรรมและความรุนแรง 22%

          จากอันดับหนึ่งและสอง แสดงให้เห็นว่าปัญหาที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นกังวล ก็คือ ปัญหาด้านสังคม ซึ่งสวนทางกับทั่วโลกที่ความกังวลใจอันดับแรก คือ “ภาวะเงินเฟ้อ” รองลงมา คือ อาชญากรรมและความรุนแรงในประเทศ, การว่างงาน, ความยากจน ไม่เท่าเทียมในสังคม และเรื่องสุดท้าย คือ การทุจริต คอร์รัปชัน

     2. คนไทยมองสังคมกำลังตกอยู่ในวิกฤต สูงสุดของโลก จากผลสำรวจความรู้สึกเปราะบางในสังคมและประเทศ พบว่า 66% ของคนไทยเชื่อว่าสังคมไทยกำลังตกอยู่ใน ‘ภาวะวิกฤต’ และ 60% มองว่าประเทศกำลังอยู่ใน ‘ภาวะถดถอย’ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับดัชนีชี้วัดสังคมวิกฤตของอิปซอสสที่เคยทำไว้จาก 31 ประเทศทั่วโลก (Ipsos Society is Broken Index) โดยวัดจากเศรษฐกิจ สังคมและนโยบายการบริหารประเทศ พบว่าอัตราค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 61% แต่ของไทยกลับสูงถึง 77% โดย 56% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่าประเทศไทยกำลังมาผิดทาง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 13%

     3. ความเหลื่อมล้ำ-ช่องว่าง ยังคงเป็นปัญหาหลัก

            - 84% มองเรื่องความขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจน

          - 76% มองเรื่องความแตกต่างของช่วงวัย

          - 73% ความแตกต่างระหว่างผู้มีแนวคิดเสรีนิยมและผู้ที่มีค่านิยมดั้งเดิม

     4. ความหวังด้านผู้นำ

           - 79% เรียกร้องให้มีผู้นำที่กล้าหาญพอที่จะ "แหกกฎ" เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ

          - 77% สนับสนุนผู้นำที่เข้มแข็งเพื่อทวงคืนประเทศจากกลุ่มคนร่ำรวยและผู้มีอำนาจ

ด้านเศรษฐกิจ

     5. ชนชั้นกลาง/มนุษย์เงินเดือน ไม่อยากจ่ายภาษีเพิ่ม

          - 45% ของคนไทยไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีเพิ่ม

          - 70% สนับสนุนให้รัฐเพิ่มการใช้จ่ายในด้านบริการสาธารณะ

          พฤติกรรมดังกล่าว ทางอิปซอสส์ ได้เรียกว่า "Cakeism" เป็นสำนวนอังกฤษ หมายถึงการอยากได้ผลประโยชน์ทั้งสองส่วนพร้อมกัน ทั้งที่เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับการกินเค้กหรือพายไปแล้ว เราไม่มีทางที่จะเหลือเค้กหรือพายอยู่ได้

           โดยเศรษฐกิจแบบ Cakeism นับเป็นปัญหาทั่วโลกในทุกประเทศ ซึ่งกลุ่มชนชั้นกลางหรือเหล่ามนุษย์เงินเดือนมักเป็นผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องและเยอะที่สุด หากต้องมาจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นอีก จึงรู้สึกไม่แฟร์กับตน ในขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้สูงหรือนายทุน นักธุรกิจกลับมีสิทธิพิเศษบางอย่าง หรือผู้มีรายได้น้อยไม่เข้าเกณฑ์ ไม่เข้าระบบ ก็ไม่ต้องถูกจัดเก็บ จึงทำให้ไม่อยากจ่ายเพิ่ม แต่กลับรู้สึกภาครัฐต่างหากที่ต้องเพิ่มสวัสดิการและบริการสาธารณะที่เหมาะสมให้แทน

     6. สาเหตุที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น

          มองว่ามาจาก 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่

          - 81% ระดับอัตราดอกเบี้ยในประเทศ

          - 81% นโยบายของรัฐบาล

          - 81% สภาวะเศรษฐกิจโลก

          - 79% แรงงานเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้น

          - 77% ธุรกิจต่างๆ มุ่งทำกำไรมากเกินไป

พฤติกรรมผู้บริโภค

     7. มีความลังเลมากขึ้นในการซื้อของชิ้นใหญ่

          ผลสำรวจเผยให้เห็นว่า 65% ของคนไทยมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันย่ำแย่ลง ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 60,000 บาทลงมา ทำให้คนไทยมีความลังเลในการจับจ่ายสินค้ามากขึ้น

          53% รู้สึกไม่สบายใจที่จะซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ ประเภทบ้านหรือรถยนต์

          และ 46% สำหรับการซื้อของใช้ในครัวเรือนอื่นๆ (ไม่ใช่สินค้าในชีวิตประจำวัน) เช่น ทีวี, แอร์, ตู้เย็น, พัดลม หากยังไม่จำเป็น ก็ยังไม่อยากเปลี่ยนใหม่

      8. ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ยังกังวลค่าใช้จ่ายต่างๆ

           - 69% ค่าสาธารณูปโภค

          - 66% ค่าเชื้อเพลิงรถยนต์

          - 66% ใช้จ่ายด้านอาหาร

          - 62% ค่าใช้จ่ายในการซื้อของใช้ในบ้านอื่นๆ

          - 44% ค่าใช้จ่ายในการสังสรรค์                                                                                         

          - 38% ค่าที่อยู่อาศัย                                                                                                     

          - 34% ค่าสมาชิกต่างๆ

          โดยมองว่าในส่วนนี้ภาคธุรกิจ หรือแบรนด์ต่างๆ สามารถช่วยผู้บริโภคลดความกังวลใจลงได้ เช่น 1.การคืนกำไรสู่สังคม สร้างผลกระทบเชิงบวก เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อแบรนด์ นำไปสู่ Brand Loyalty หรือ ความภักดีต่อแบรนด์ได้ และ 2.สร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส ดำเนินธุรกิจด้วยธรรมาภิบาล ทำให้แบรนด์เกิดความเชื่อมั่น เป็นตัวอย่างธุรกิจที่น่านับถือ

     9. ความเท่าเทียมทางเพศ มีผลต่อธุรกิจ

          คนไทยให้การสนับสนุนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความเท่มเทียมทางเพศ

          - 44% เชื่อว่าธุรกิจที่มีนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศนั้น มีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมโดยรวม

          - 71% ของคนไทยเชื่อว่าการบรรลุความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะมีความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างความคิดเห็นของผู้ชาย (69%) และผู้หญิง (73%)

     10. คาดหวังเศรษฐกิจจะดีขึ้น ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี

          59% ของคนไทยบอกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว หรือเงินเฟ้อเข้าสู่ภาวะปกติ ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี แต่ถึงจะมีความกังวล แต่ 37% ของคนไทยคาดการณ์ว่าสถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะแข็งแกร่งขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ต้องยอมรับว่าตัวเลขนี้ลดลงถึง 17% จากปีที่แล้ว

          - กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูง เชื่อว่าจะดีขึ้น 41% (ลดลงกว่าปีที่แล้ว 9%)

          -  ครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลาง เชื่อว่าจะดีขึ้น 37% (ลดลงกว่าปีที่แล้ว 13%)

          - ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย เชื่อว่าจะดีขึ้น 24% (ลดลงกว่าปีที่แล้ว 31%)

     11. คนไทยเสพข่าวผ่านโซเชียลมีเดียมากเป็นอันดับหนึ่ง

          - โซเชียลมีเดีย 86%

          - โทรทัศน์ 57%

          - ข่าวจากเว็บไซต์ 52%

          - เพื่อนและครอบครัว 36%

          - พอดแคสต์ 18%

          - หนังสือพิมพ์ 17%

          - วิทยุ 11%

          - ไม่ตอบ + อื่นๆ อย่างละ 2%

         คนไทยเลือกเสพข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียมากถึง 86% สูงเป็นอันดับหนึ่ง ข้อดี คือ ช่วยให้แบรนด์สื่อสารกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น แต่ข้อเสีย คือ อาจทำให้เกิด Fake News ได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

     12. “กลัวตกงาน” ความหวั่นใจยังสูง

          - 59% หรือเกือบ 6 ใน 10 คน ระบุว่ารู้จักคนที่เพิ่งตกงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

          - 28% หรือเกือบ 1 ใน 3 กังวลว่าตนเองอาจประสบปัญหาการตกงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า

          - 48% มีความมั่นใจน้อยลงเกี่ยวกับความมั่นคงในงานของตนเอง ครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด

          - 54% มีความมั่นใจน้อยลงเกี่ยวกับความสามารถในการลงทุนเพื่ออนาคต เช่น เงินเกษียณอายุ, การศึกษาของบุตรหลาน

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ถึงเวลาก็ต้อง...ขยับขยาย ส่อง 3 Beauty Blogger แตกไลน์สู่สายธุรกิจ

เหล่า Blogger ยุคเก๋าที่โลดแล่นอยู่ในวงการโซเชียลมาอย่างยาวนาน ต่างเริ่มต้นขยับขยายจากการเป็นแค่อาชีพ Blogger ข้ามสู่เส้นทางธุรกิจ และนี่คือธุรกิจจาก 3 Beauty Blogger ชื่อดัง ที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางนักธุรกิจแบบเต็มตัว

10 เทรนด์ Future Food โอกาสใหม่ธุรกิจไทย

โลกของอาหารกำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่ความอร่อย หรือแพ็กเกจที่สวยงามอีกต่อไป แต่ผู้บริโภคมองลึกถึง “วัตถุดิบ สุขภาพ ความยั่งยืน และนวัตกรรม” และเทรนด์ที่น่าสนใจนี้ เรียกว่า “Future Food” ซึ่งจะมาสร้างโอกาสทองให้ธุรกิจไทย

MUJI vs IKEA กลยุทธ์สร้างแบรนด์ต่างกันสุดขั้ว แต่ทั่วโลกต้องจดจำ

MUJI และ IKEA อาจดูเหมือนแบรนด์ที่อยู่กันคนละจักรวาล แบรนด์หนึ่งมองว่าความเรียบง่ายคือความงาม อีกแบรนด์เชื่อว่าประสบการณ์ที่ดี ต้องเริ่มจากความสนุก แล้วทำไมพวกเขาทั้งคู่ถึงเป็นที่รักของผู้คนในทุกมุมโลก?