กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเปิดแคมเปญใหม่ "Drives the ASEAN Synergy" ผลักดัน 5 โครงการพัฒนาผู้ประกอบการปี 57 ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลักในประเทศด้วยงบประมาณกว่า 600 ล้านบาท รองรับการเปิดตลาดอาเซียน
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเปิดแคมเปญใหม่ "Drives the ASEAN Synergy" ผลักดัน 5 โครงการพัฒนาผู้ประกอบการปี 57 ครอบคลุมอุตสาหกรรมหลักในประเทศด้วยงบประมาณกว่า 600 ล้านบาท รองรับการเปิดตลาดอาเซียน
นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2557 กรมมีแผนที่จะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทย เพื่อเตรียมพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ภายใต้โครงการที่ชื่อ "DIP Drives the ASEAN Synergy" โดยจะดำเนินกิจกรรมผ่าน 5 โครงการครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก อาทิ ศูนย์กลางด้านห่วงโซ่อุปทานของอาเซียน ศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียน (Thailand ASEAN Fashion Center) โครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเลย์ โครงการเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตของ SMEs และโครงการเพิ่มมูลค่าสินค้า OTOP ด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ด้วยงบดำเนินการกว่า 686 ล้านบาท
"ประเทศไทย มีกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมในอาเซียน นั่นคือโอกาสและช่องทางต่างๆ เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนหลายประการ อาทิ การเป็นศูนย์กลางทางด้านทำเลที่ตั้ง การคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ และแรงงานมีฝีมือมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เอื้อต่อการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของอาเซียนได้ไม่ยาก"นายโสภณกล่าว
สำหรับแนวทางการดำเนินงานผ่านกิจกรรมหลัก 5 โครงการนั้น ประกอบด้วย 1. การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้ก้าวขึ้นสู่ซัพพลายเชนของอาเซียน (Thai SMEs to AEC Supply Chain)
ภายใต้นโยบายนี้ได้มีการวางแผนพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการจัดอบรมทั้งระดับผู้บริหารงานและผู้ปฏิบัติงาน การให้คำปรึกษาด้านการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน การจับคู่ธุรกิจ การศึกษาดูงานยังตลาดเป้าหมาย AEC การสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศกลุ่มอาเซียนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมตามศักยภาพของพื้นที่ ตลอดจนการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน ภายใต้งบประมาณ 195 ล้านบาท
2. การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียน (Thailand ASEAN Fashion Center) ซึ่งกรมมีแผนที่จะสร้างการรับรู้และภาพลักษณ์ให้กับสินค้าของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย การเพิ่มประสิทธิภาพของ
บุคลากรในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น การสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และการผลักดัน 4 ย่านการค้าแฟชั่น ได้แก่ สยาม ประตูน้ำ โบ๊เบ๊ และสวนจตุจักร ให้กลายเป็นแหล่งสินค้าแฟชั่นไทยที่มีกลุ่มลูกค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมีงบประมาณสนับสนุนจำนวน 160 ล้านบาท
3. การต่อยอดโครงการอุทยานอุตสาหกรรมอาหาร (Thailand Food Valley) ภายใต้งบสนับสนุน 48 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปตลอดห่วงโซ่อุปทานให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และมีความสามารถการแข่งขันในตลาด AEC ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวมิได้พัฒนาแค่อาหารสำเร็จรูปแล้วเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงขั้นตอนของการผลิตวัตถุดิบด้วย
นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินงานในโครงการอุทยานอุตสาหกรรมอาหาร (Thailand Food Valley) ยังรวมไปถึงการนำผลงานวิจัยมาใช้ต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปสู่การจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ หรือเป็นการบูรณาการองค์ความรู้จากสถาบันศึกษาสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ อีกทั้งได้มีการวางแผนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ทั้งด้านการค้าและบริการจากในประเทศและต่างประเทศในธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นการนำรายได้เข้าสู่ประเทศอีกทางหนึ่งผ่านช่องทางการลงทุนโดยตรง หรือ Foreign Direct Investment (FDI)
4. การเพิ่มมูลค่าสินค้า OTOP ด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา (High Value OTOP Based On Rich Culture and Local Wisdom) โดยนโยบายดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากโครงการสินค้า OTOP ของภาครัฐ ซึ่งมีแนวทางในการนำองค์ความรู้ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของสังคมไทยมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการกว่า 350 ผลิตภัณฑ์และยกระดับการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรม ผ่านกลยุทธ์ Supply Creates its own Demand ซึ่งเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ของไทยได้อย่างแท้จริง รวมถึงการพัฒนาและสร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP ของแต่ละภูมิภาคด้วย
5. การเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมเพื่อการเติบโตของ SMEs (Productivity and Innovation for SMEs Growth) เป็นนโยบายหนึ่งที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทางเศรษฐกิจ อาทิ ปัญหาค่าแรง ค่าเงินบาท เป็นต้น ภายใต้งบสนับสนุน 152 ล้านบาท
"ตามกรอบการดำเนินงานทั้ง 5 โครงการข้างต้นนี้ กรมมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งสิ้น 16,700 คน และพัฒนาสถานประกอบการ 3,500 กิจการ"นายโสภณกล่าว
ทั้งนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถในการประกอบการ โดยได้มีการตั้ง 4 ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย ได้แก่ การสร้างและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตและแข่งขันได้ การส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การสนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม และการพัฒนาประสิทธิภาพองค์กร