อุตฯเฟอร์นิเจอร์ลุ้นค่าเงินบาทดันส่งออกปี 57 โต

นายวีระชัย คุณาวิชยานนท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยทั้งปี 2556 คาดว่าจะมีการส่งออกประมาณ 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มียอดส่งออกอยู่ที่ 1,143 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในหลายกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน สหรัฐฯ และบางประเทศในสหภาพยุโรปดีขึ้น รวมทั้งความต้องการเฟอร์นิเจอร์จากญี่ปุ่นและยุโรปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 


นายวีระชัย คุณาวิชยานนท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยทั้งปี 2556 คาดว่าจะมีการส่งออกประมาณ 1,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปี 2555 ที่มียอดส่งออกอยู่ที่ 1,143 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในหลายกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน สหรัฐฯ และบางประเทศในสหภาพยุโรปดีขึ้น รวมทั้งความต้องการเฟอร์นิเจอร์จากญี่ปุ่นและยุโรปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มีการขยายตัวติดลบประมาณ 1% ดังนั้นจึงทำให้ตลาดเฟอร์นิเจอร์ปี 2556 มีการเติบโตขึ้น นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศครึ่งปีหลัง 2556 เงินบาทอ่อนค่าลงกว่าช่วงต้นปี จึงเอื้อต่อการส่งออกให้มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์คิดเป็นสัดส่วน 2-3% ของภาพรวมการส่งออกทั้งหมดของประเทศ จึงไม่มีผลกับการส่งออกทั้งประเทศมากนัก  

สำหรับแนวโน้มในปี 2557 คาดว่าตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์จะเติบโตขึ้นประมาณ 5% จากปี 2556 โดยปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก คือ อัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้หากอยู่ที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และไม่มีความผันผวน ผู้ประกอบการก็สามารถส่งออกได้คล่องตัว แต่หากเงินบาทแข็งค่ามากกว่านี้ ก็จะทำให้การส่งออกประสบกับปัญหา

นอกจากนี้ต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าแรง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ลดลง ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ได้ปรับตัวด้วยการจับลูกค้าระดับบนมากขึ้น โดยการเพิ่มมูลค่าสินค้าและลดปริมาณการผลิตสินค้าลง เนื่องจากกำลังซื้อระดับกลาง-ล่างส่วนหนึ่งมองว่าเป็นสินค้าไม่จำเป็น เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นทำให้การตัดสินใจซื้อชะลอออกไป ด้านผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กก็ได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดแข่งขันรุนแรงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตรายเล็กส่วนหนึ่งต้องปรับตัวไปหันทำธุรกิจอื่นหรือทำตลาดในประเทศเท่านั้น

“การขยายตัวของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศปี 2556 เติบโตต่ำกว่าปี 2555 เนื่องจากในปี 2555 ตลาดมีการขยายตัวถึง 20% เพราะปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้หลังจากน้ำลด ปริมาณความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ จากการที่เฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม” นายวีระชัย กล่าว   

ส่วนเรื่องการเมือง ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ แต่อาจจะมีผลกระทบทางอ้อมหากมีการเลือกตั้งใหม่ และใช้นโยบายประชานิยม โดยการขึ้นค่าแรง ซึ่งจะส่งผลในเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการ ดังนั้นภาพรวมปี 2557 ในเบื้องต้นต้องดูช่วงไตรมาสแรกก่อนว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศจะไปในทิศทางใด แต่คาดว่าอัตราการเติบโตน่าจะใกล้เคียงกับปี 2556

ทั้งนี้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าเข้าไปยังเมียนมาร์ ลาว และมาเลเซีย ได้มากขึ้น โดยจะใช้วิธีถ่ายทอดพฤติกรรมผู้บริโภคเข้าไป เช่น ชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในไทย จะได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากไทย ก็จะทราบถึงคุณภาพและแบรนด์สินค้าในไทยว่าดีอย่างไร เป็นต้น

นอกจากนี้การเปิด AEC จะทำให้หลายประเทศเข้ามาเปิดสำนักงานในไทย เพื่อใช้เป็นสำนักงานรองรับการเปิด AEC เนื่องจากเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะทำให้ตลาดเฟอร์นิเจอร์เติบโตขึ้นตามไปด้วย แต่ผู้ประกอบการ ไทยก็จะพบกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสินค้าจากเวียดนาม มาเลเซีย จะเข้ามาตีตลาด โดยแข่งขันด้านราคาที่ถูกกว่าสินค้าไทย จากต้นทุนที่ถูกกว่า

 

NEWS & TRENDS