นายธนวรรธ์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2556 พบว่า อยู่ที่ระดับ 73.4 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 75.0
นายธนวรรธ์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2556 พบว่า อยู่ที่ระดับ 73.4 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 75.0
นายธนวรรธ์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯเดือนดังกล่าวถือว่าปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี เนื่องจากประชาชนไม่มีความมั่นใจในการใช้จ่าย ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง การส่งออกของไทยที่ลดลง และโดยเฉพาะการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งสื่อให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะเปราะบาง ซึ่งทาง หอการค้าคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวได้อีกครั้งในไตรมาสที่ 2 ของปี ส่วนไตรมาสที่1 คาดว่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับไตรมาสที่4 ของปี 2556 โดยจะเติบโตได้ที่ประมาณ 1-2%
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2556 ต่ำสุดในรอบ 24 เดือนนับตั้งแต่มกราคม 2555เป็นต้นมา โดยเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันต่อความเชื่อมั่นมากที่สุด ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าคงทนในกลุ่มที่อยู่อาศัย รถยนต์ และการท่องเที่ยว เป็นต้น
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่าการบริโภคภาคประชาชนยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายไตรมาสที่ 1 เป็นอย่างน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงยังไม่มีสัญญาณปรับฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด
หากพิจารณาเป็นรายภูมิภาคในเดือน ธันวาคม 2556 พบว่าความเชื่อมั่นในพื้นที่กทม. และปริมณฑลต่ำสุดอยู่ในระดับ 69.4 และลดลงจากเดือนก่อน 1.9 เนื่องจากเป็นพื้นที่ของการชุมนุม ส่วนภาคเหนืออยู่ในระดับ 76.7 ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในระดับ 77.8 ภาคกลาง อยู่ในระดับ 70.4 ภาคใต้อยู่ในระดับ 80.4 และภาคตะวันออกอยู่ในระดับ 74.9
นอกจากนี้ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ในเดือนธันวาคม 2556 อยู่ระดับ 68.7 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 90 เดือน หรือต่ำสุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่เดือน กรกฏาคม2548 ที่มีการสำรวจมา
ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ก็ปรับลดลงต่อเนื่องเช่นกันมาอยู่ในระดับ 64.2 ต่ำสุดในรอบ 90 เดือนนับตั้งแต่มีการสำรวจ ขณะที่อุตสาหกรรมไทยที่โดดเด่นมาตลอดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาคือยานยนต์ก็มีการปรับลดลงมาเช่นกันโดยดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่อยู่ในระดับ 99.5 ต่ำสุดในรอบ 21 เดือนและเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 21 เดือน