ส่งออกไทยสะเทือนอียูตัดจีเอสพีสินค้า 50 รายการ

อียูตัดจีเอสพีสินค้าไทย 50 รายการคาดกระทบหนักขีดแข่งขันสินค้าไทย จับตาเอฟทีเออียูกับสิงคโปร์ มาเลย์ และเวียดนาม มีผลบังคับใช้ยิ่งหนัก คาดสูญตัวเลขส่งออกไปตลาดอียูปีละกว่า 4 หมื่นล้าน การ์เมนต์แห่หาที่ลงประเทศเพื่อนบ้านใช้สิทธิ์จีเอสพีแล้วกว่า 35 ทำเล

 


อียูตัดจีเอสพีสินค้าไทย 50 รายการคาดกระทบหนักขีดแข่งขันสินค้าไทย จับตาเอฟทีเออียูกับสิงคโปร์ มาเลย์ และเวียดนาม มีผลบังคับใช้ยิ่งหนัก คาดสูญตัวเลขส่งออกไปตลาดอียูปีละกว่า 4 หมื่นล้าน การ์เมนต์แห่หาที่ลงประเทศเพื่อนบ้านใช้สิทธิ์จีเอสพีแล้วกว่า 35 ทำเล

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า นอกจากผู้ส่งออกมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศในขณะนี้แล้ว ยังมีความเป็นห่วงต่อกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ประเทศไทยใน 3 หมวดสินค้าใหญ่ รวม 50 รายการ จากที่ได้รับสิทธิ์จีเอสพี 723 รายการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นมา

"เรื่องนี้เอกชนเองต่างตระหนักดี เพราะแม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะมีการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปมาแล้วถึง 2 รอบ และกำลังจะเปิดเจรจารอบที่ 3 ซึ่งก็ไม่น่าจะมีสาระสำคัญอะไรมากคงพูดคุยกันในเรื่องทั่วไปไม่สามารถตกลงในข้อตกลงใดๆ ได้เพราะไทยเป็นรัฐบาลรักษาการ ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามต่างมีการเจรจาเอฟทีเอกับอียู ซึ่งน่าจะลงนามได้ก่อนไทย ดังนั้นไทยเองจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หากการเจรจาเอฟทีเอกับอียูไม่มีความคืบหน้าอาจจะมีผลกระทบต่อยอดการส่งออกในปี 2558 เพราะผู้ซื้อจะเข้าใจว่าไทยไม่มีเอฟทีเอ"

  ด้านแหล่งข่าวจากวงการส่งออก กล่าวว่า จากที่ขณะนี้สิงคโปร์ได้เจรจาเอฟทีเอกับอียูแล้วเสร็จ และได้ลงนามบันทึกความเข้าใจไปแล้ว คาดความตกลงจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ ขณะที่เอฟทีเอเวียดนาม-อียู คาดจะเจรจาแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปี 2557 และลงนามความตกลงในสิ้นปี และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 6-8 เดือนหลังจากนั้น ส่วนเอฟทีเอมาเลเซีย-อียูคาดการเจรจาจะแล้วเสร็จในปี 2558 ทั้งนี้หากคู่แข่งทั้ง 3 ประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับอียูได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ประเมินการส่งออกไทยไปตลาดอียู (28 ประเทศ) จะหายไปจากวันนี้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี หากไทยไม่มีเอฟทีเอกับอียู ช่วง 10 ปีหลังจากนั้นการส่งออกของไทยไปอียูจะหายไปประมาณ 4 แสนล้านบาท (ปี 2556 ไทยส่งออกไปตลาดอียู 6.77 แสนล้านบาท) จากภาษีนำเข้าสินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่งขัน

  นายวัลลภ กล่าวเพิ่มเติม ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ว่าอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในปีนี้ช่วงไตรมาสที่ 1-2 ยังคงเติบโตไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปเริ่มฟื้นตัวและปีนี้มีเทศกาลฟุตบอลโลก ดังนั้นในช่วงนี้เป็นช่วงที่ผู้ประกอบต้องเร่งผลิตสินค้า เพราะคำสั่งซื้อเต็มไปถึงไตรมาสที่ 2 ส่วนไตรมาสที่ 3-4 คงต้องรอดูกลางๆ ไตรมาสที่ 2 ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร

  ขณะที่การขยายฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มของผู้ประกอบการไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเพราะผู้ซื้อมองว่าไทยไม่ได้สิทธิ์จีเอสพีส่งออกไปยังตลาดอียู และสหรัฐอเมริกาแล้ว ขณะที่เวียดนาม อินโดนีเซียยังได้จีเอสพี ประกอบกับไทยมีค่าแรงที่สูงขึ้น และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการต้องย้าย หรือขยายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มของไทยได้ไปลงทุนในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) แล้วกว่า 35 ทำเล

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

 

NEWS & TRENDS