นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การสำรวจครั้งล่าสุดของ ส.อ.ท. พบว่า เอสเอ็มอีกำลังประสบปัญหาทั้งยอดขายตก กำไรลดลง โดยความเชื่อมั่นของธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่ต่างจังหวัดลดต่ำลงอย่างมาก และแม้ว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะไม่ตอบคำถามถึง..
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การสำรวจครั้งล่าสุดของ ส.อ.ท. พบว่า เอสเอ็มอีกำลังประสบปัญหาทั้งยอดขายตก กำไรลดลง โดยความเชื่อมั่นของธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่ต่างจังหวัดลดต่ำลงอย่างมาก และแม้ว่าเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะไม่ตอบคำถามถึงประเด็นว่าจะทนกับสถานการณ์แบบนี้ไปได้อีกนานเท่าไหร่ แต่หากปัญหาการเมืองลากยาวไปถึงกลางปี ก็เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดกับเอสเอ็มอีก็น่าจะรุนแรงกว่านี้.
"สถานการณ์การเมืองขณะนี้ดูจะยังติดล็อก ไม่มีทางออก แต่หากลากยาวไปกว่านี้ไม่ดีแน่ เพราะแค่นี้เอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบหนักแล้ว หากยาวไปถึงกลางปีก็เชื่อได้ว่า หนี้เอ็นพีแอลในสถาบันการเงินก็น่าจะสูงขึ้นได้"
นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่ในภาคอีสาน 3-4 จังหวัด พบว่า เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ เม็ดเงินการใช้จ่ายของภาครัฐไม่ลงในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง พบว่ายอดขายชะลอลงไปมากกว่า 30% และส่งผลต่อไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับการก่อสร้างให้ชะลอตัวตามไปด้วย ส่วนการท่องเที่ยวในภาคอีสาน พบว่ายอดขายหายไปกว่า 70% เนื่องจากปกติจะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในภาคอีสานจำนวนมาก แต่ช่วงนี้ก็หายไป อาจเป็นเพราะคนเหล่านั้นไม่ต้องการท่องเที่ยวภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ หรืออาจจะไปอยู่ในสถานที่ชุมนุมต่างๆ ก็เป็นได้
"นักท่องเที่ยวคนไทยที่หายไป ทำให้ร้านอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยว หรือร้านขายของที่ระลึก ร้านขายผ้าไหมในพื้นที่อีสานยอดขายหายไปเลย ร้านอาหารเงียบเหงามาก" นายธนิต กล่าวและว่า ส่วนในภาคเกษตรเอง ปัญหาในโครงการรับจำนำข้าวชาวนาในพื้นที่ภาคอีสานไม่ได้รับผลกระทบนัก แต่ก็ประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่ทำให้เกษตรกรมีความวิตกกังวลมาก
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีชายแดนติดกับด่านค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านยังถือว่าได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อจากประชากรของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก เช่น ด่านที่มุกดาหาร อุบลราชธานี หรือด่านแม่สอด จ.ตาก เป็นต้น
นายธนิต กล่าวอีกว่า ภาคธุรกิจต่างๆ นี้ถือเป็นห่วงโซ่อุปทานกับการส่งออกด้วย ซึ่งในอนาคตก็อาจกระทบกับการส่งออกให้ชะลอตัวลง โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เอสเอ็มอีมีปัญหาในเรื่องสภาพคล่อง เกิดปัญหาเรื่องการยืดหนี้แล้ว ส่วนที่จะอยู่ได้นานเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของธุรกิจนั้นๆ จะมีสายป่านยาวแค่ไหน โดยความช่วยเหลือที่เอสเอ็มอีมีความต้องการในขณะนี้ ก็คือความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องทางการเงิน การยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย แต่สถานการณ์ในขณะนี้ สถาบันการเงินของรัฐอาจจะดำเนินการได้ไม่เต็มที่หากรัฐบาลไม่ดำเนินการสั่งการลงมา ส่วนธนาคารพาณิชย์เอกชน ความช่วยเหลืออาจจะไม่เต็มที่ เพราะเท่าที่ทราบแบงก์พาณิชย์เองก็สภาพคล่องตึงตัวเช่นกัน โดยปัจจุบันพบสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินออมอยู่ในอัตราสูงถึง 95% แล้ว