กสอ.อบรม SMEs ภาคกลางตอนล่างเสริมศักยภาพรับ AEC

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เล็งเห็นศักยภาพและการเติบโต ศก.ภาคกลางตอนล่าง 2 ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมเพชรบุรี จัดสัมมนาพิเศษเพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ใกล้เคียงเตรียมพร้อมสู่ AEC





    กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เล็งเห็นศักยภาพและการเติบโต ศก.ภาคกลางตอนล่าง 2 ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมเพชรบุรี จัดสัมมนาพิเศษเพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ใกล้เคียงเตรียมพร้อมสู่ AEC    

    นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กสอ. ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี จัดการสัมมนาและบรรยายพิเศษ เรื่อง "เพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรมรุก AEC" เพื่อสร้างความตื่นตัวและความเข้าใจถึงผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมเมื่อเข้าสู่ AEC ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs

   รวมทั้งให้ความรู้ในเรื่องสิทธิประโยชน์และการส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น SMEs ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี และกาญจนบุรี

    ปัจจัยที่จัดงานสัมมนาครั้งนี้นอกจากทางกรมได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) ซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ 4 สาขาหลัก ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การค้าส่ง และการค้าปลีกและการบริการ และมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมกลุ่มจังหวัด (GRP)กว่า 5 แสนล้านบาท มีความพร้อมทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง และสภาพเศรษฐกิจ ประกอบกับผู้ประกอบการมีความตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ AEC  

    นอกจากนี้จากข้อมูลยังพบว่า ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ยังมีความเข้าใจในเรื่อง AECไม่มากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจทั้งเชิงรุกและเชิงรับให้กับธุรกิจของตนเอง ทั้งในด้านคุณภาพของสินค้าซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก หากต้องการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ

    "การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อสร้างตลาดและฐานการผลิตที่เป็นหนึ่งเดียวกัน นับเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีการค้าโลกมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างโอกาสและส่งผลกระทบให้กับประเทศไทยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการค้า และการบริการ" อธิบดี กสอ.กล่าว

    ด้านนายบรรเทิง นวมภักดี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี มีศักยภาพสูงในการประกอบกิจการทั้งทางด้านภูมิศาสตร์และการเพาะปลูก มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 700 โรงงาน  ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การแปรรูปโลหะ พลาสติก และโอท็อป  โดยสินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งการออกทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ  น้ำตาลโตนด กล้วย สับปะรด และอาหารทะเลตากแห้ง เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จัดเป็นสินค้าโดดเด่นของจังหวัดและมีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มและควรให้การส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC จึงเป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้ 


ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ



NEWS & TRENDS