รายใหญ่-SMEs นับพันเบื่อการเมืองไทยจ่อขนเงินลงทุนเพื่อนบ้าน

ม.หอการค้าไทย เผยหากการเมืองยืดเยื้อถึงสิ้นปี 57 นักธุรกิจไทย 1,400 ราย เตรียมขนเงิน 1.2 แสนล้านขยายฐานผลิตในเพื่อนบ้าน หนีปัญหา ห่วงเปิดเออีซีทำเวียดนามแย่งตลาดสินค้าไทยในอาเซียนเฉียด 3 หมื่นล้าน หลังต้นทุนต่างๆ ของไทยพุ่งไม่หยุด

 


    ม.หอการค้าไทย เผยหากการเมืองยืดเยื้อถึงสิ้นปี 57 นักธุรกิจไทย 1,400 ราย เตรียมขนเงิน 1.2 แสนล้านขยายฐานผลิตในเพื่อนบ้าน หนีปัญหา ห่วงเปิดเออีซีทำเวียดนามแย่งตลาดสินค้าไทยในอาเซียนเฉียด 3 หมื่นล้าน หลังต้นทุนต่างๆ ของไทยพุ่งไม่หยุด

    นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเห็นนักธุรกิจในไทยต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองว่า นักธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่อยู่ในไทย 1,440 ราย เตรียมขยายการลงทุนในประเทศอาเซียนมูลค่า 123,716 ล้านบาท หากสถานการณ์ทางการเมืองไทยยังยืดเยื้อถึงสิ้นปีนี้ โดยจะไปลงทุนในอินโดนีเซียมากสุด 37,582 ล้านบาท รองลงมาเป็น พม่า 26,251 ล้านบาท เวียดนาม 22,254 ล้านบาท มาเลเซีย 14,522 ล้านบาท สิงคโปร์ 11,933 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ค้าปลีกค้าส่ง การเงินและประกันภัย คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 

    “แต่หากการเมืองยืดเยื้อถึงสิ้นปี 58 จะมีนักธุรกิจเพิ่มเป็น 2,800 ราย ที่จะขยายฐานไปเพื่อนบ้านในอัตราแบบก้าวกระโดด คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าลงทุนดังกล่าวคงไม่ใช่เม็ดเงิน

จากนักธุรกิจไทยอย่างเดียว แต่อาจเป็นในรูปแบบการร่วมลงทุนกับนักธุรกิจชาติอื่นในแต่ละโครงการ”

    สำหรับเหตุผลหลักๆ ที่นักธุรกิจในไทยต้องการขยายฐานไปเพื่อนบ้านคือ ต้องการหาแหล่งการผลิตที่มั่นคงทางการเมือง และมีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่าไทย ที่มีปัญหาการเมืองยืดเยื้อ จนเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงต้องการหาแหล่งวัตถุดิบที่สามารถลดต้นทุนในการผลิต และต้องการหาค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า

    นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า ศูนย์ฯ ประเมินว่าหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 จะทำให้สินค้าของไทย 23 รายการจากทั้งหมด 96 รายการที่ส่งออกไปตลาดอาเซียน ต้องสูญเสียตลาดให้แก่สินค้าเวียดนามประมาณปีละ 29,254 ล้านบาท เช่น ข้าว ยาสูบ รองเท้า สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อาหารทะเลแช่เย็น-แช่แข็ง พืชผัก กระดาษ พลาสติก สารเคมีต่างๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพราะความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าเวียดนาม 2-3 เท่า 

    นอกจากนี้ ยังกังวลว่าในอนาคตเวียดนามจะแย่งเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) จากไทยในหลายๆ อุตสาหกรรม โดยในปี 57 คาดว่าไทยมีมูลค่าลงทุนสะสมจากเอฟดีไอ 158,858 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มากกว่าเวียดนามที่มีมูลค่าสะสม 139,856 ล้านเหรียญฯ ถึง 34,538 ล้านเหรียญฯ แต่ในปี 63 เชื่อว่ามูลค่าลงทุนเอฟดีไอสะสมเวียดนามจะแซงหน้าไทย โดยเวียดนามจะอยู่ที่ 247,338 ล้านเหรียญฯ และไทยอยู่ที่ 241,797 ล้านเหรียญฯ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะไปเวียดนาม คือ สิ่งทอฯ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องหนังอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ประมงแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ เหล็ก อัญมณีและเครื่องประดับ กระดาษ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ธุรกิจในโรงพยาบาล เป็นต้น

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

NEWS & TRENDS