ก.แรงงาน​ปรับสูตรนายจ้างส่งเงินสบทบกองทุนคนพิการ

นางปราณิน มุตตาหารัช รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณาทบทวน “กฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการและหน่วยงานของรัฐต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการต้องนำส่งเข้ากองทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2554 ค..



    นางปราณิน มุตตาหารัช รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณาทบทวน “กฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการและหน่วยงานของรัฐต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการต้องนำส่งเข้ากองทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2554 ครั้งที่ 1 ปี 2557” กล่าวว่า

   มติที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับสูตรการคำนวณเงินเข้ากองทุนฯ โดยนำค่าแรงงานขั้นต่ำคูณด้วย 313 วันทำงานต่อ 1 ปี ซึ่งปรับกติกาการคำนวณวันทำงานและจำนวนเงินให้ได้รับความเป็นธรรมกับนายจ้าง นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการศึกษาวิจัยจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงเพื่อกำหนดมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ปัจจุบันมีผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ข้อมูล ณ วันที่ 3 มีนาคม 2557 รวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านคนทั่วประเทศ เฉพาะในกรุงเทพมหานคร 59,114 คน รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 581,393 คน และภาคเหนือ 348,044 คนตามลำดับ ส่วนประเภทความพิการส่วนใหญ่ คือ พิการทางการเคลื่อนไหวร่างกาย 7.05 แสนคน คิดเป็น 47.05% รองลงมาเป็นความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 2.4 แสนคน คิดเป็น 16.30% และความพิการทางการมองเห็น 1.6 แสนคน คิดเป็น 11.04% ตามลำดับ

    “การจ้างงานคนพิการ รัฐจำเป็นจะต้องดูแลให้นายจ้างอยู่ได้ คนพิการอยู่ได้โดยรัฐจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ แม้ว่าจำนวนคนพิการที่มีการขึ้นทะเบียนในปัจจุบันจะยังไม่เพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ขณะเดียวกันประเภทความพิการจะส่งผลต่อการจ้างงานของนายจ้าง ดังนั้นการจ้างงานคนพิการจะจ้างนอกเหนือจากที่ขึ้นทะเบียนได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ และผู้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้คือนายจ้างเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด”

 

NEWS & TRENDS