กลุ่มคนชั้นกลางเติบโตโอกาสอุตฯสร้างสรรค์ตีตลาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่า การเติบโตของฐานกลุ่มคนชั้นกลาง ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อ ประกอบกับการที่ผู้คนแสวงหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวและความแตกต่างไม่ซ้ำใคร เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงและมุ่งสร้างความแตกต่างในการนำเสนอสินค้าและบร..



 


    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่า การเติบโตของฐานกลุ่มคนชั้นกลาง ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อ ประกอบกับการที่ผู้คนแสวงหาเอกลักษณ์เฉพาะตัวและความแตกต่างไม่ซ้ำใคร เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงและมุ่งสร้างความแตกต่างในการนำเสนอสินค้าและบริการ

    นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงหลอมรวมกันของเทคโนโลยี ยังเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายแฟลตฟอร์มสำหรับการเข้าถึงลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย

    จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ประกอบการไทยกำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านจากการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการลดต้นทุนและการผลิตจำนวนมากเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) มาสู่การสร้างมูลค่า (Value Creation) ด้วยการยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ

     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ดูรายชื่อกลุ่มได้ที่ http://ce.nesdb.go.th) ที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบทั้งในส่วนของทุนทางวัฒนธรรมและฐานความรู้ในการเพิ่มมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในตลาดได้อย่างสอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก

    อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงเฉพาะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เท่านั้น หากแต่ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรม ยังสามารถนำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาประยุกต์และผสมผสานเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ นำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นองค์ประกอบในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมทั้งในส่วนของสินค้า บริการ และกระบวนการทำงาน

     รวมถึงใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรุดหน้าขยายแฟลตฟอร์มในการเข้าถึงลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศในรูปแบบการทำการตลาดออนไลน์ เพื่อนำมาสู่การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบต่างๆ เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เป็นต้น เพื่อป้องกันการถูกละเมิดนำไปเผยแพร่ คัดลอก หรือดัดแปลงโดยผู้อื่น

    ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถสร้างความร่วมมือในรูปแบบการจับคู่ทางธุรกิจ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญแต่ละด้านของผู้ประกอบการแต่ละรายส่งเสริมซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่น และเกาหลี ก็เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่ภาครัฐสามารถใช้เป็นแนวทางขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของมีบทบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน

    ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นวาระแห่งชาติ การส่งออกวัฒนธรรมไปทั่วโลกผ่านธุรกิจที่สำคัญ เช่น ธุรกิจอาหาร ธุรกิจบันเทิง รวมถึงการสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ



 

NEWS & TRENDS