ผลสำรวจชี้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์ FTA ไม่ถึงครึ่ง

กระแสการเปิดเสรีการค้าเอฟทีเอทั้งในระดับประเทศต่อประเทศและระดับภูมิภาค มีมากขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลังการเจรจารอบโดฮาของดับเบิลยูทีโอ แทบไม่มีความคืบหน้า ทำให้กรอบเจรจาหลากหลายและซ้อนทับกันไปมา ไทยในฐานะประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในสัดส่วนสูง พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมใน..


    
    กระแสการเปิดเสรีการค้าเอฟทีเอทั้งในระดับประเทศต่อประเทศและระดับภูมิภาค มีมากขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลังการเจรจารอบโดฮาของดับเบิลยูทีโอ แทบไม่มีความคืบหน้า ทำให้กรอบเจรจาหลากหลายและซ้อนทับกันไปมา ไทยในฐานะประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศในสัดส่วนสูง พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกรอบการเจรจา

    แม้ไทยเข้าร่วมในกรอบเจรจาจำนวนมาก แต่การใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพยังเกิดขึ้นน้อย จึงต้องปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากการเจรจา ก่อนเข้าร่วมการเจรจาในกรอบอื่นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

    นายอาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ทางการค้าระหว่างประเทศ และพึ่งพากรอบเจรจาการค้าแบบทวิภาคีเอฟทีเอมากขึ้น โดยใช้การเจรจาการค้าแบบคู่เจรจาระหว่างประเทศที่เป็นคู่ค้ากับประเทศไทยโดยตรง หรือเข้าไปเกี่ยวข้องในการเจรจาในฐานะที่เป็นสมาชิกของภูมิภาคหรือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มอาเซียน

    ปัจจุบันการทำเอฟทีเอของไทยมีการทับซ้อนกันกับบางประเทศในหลายส่วน เนื่องจากไทยมีการทำเอฟทีเอระหว่างประเทศ และทำเอฟทีเอในฐานะที่เป็นสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจ โดยขณะนี้มีอย่างน้อย 18 ข้อตกลงที่มีความทับซ้อนกันอยู่ เช่น เอฟทีเอไทย - ออสเตรเลีย ก็มีกรอบเอฟทีเอที่ไทยเกี่ยวข้องกับออสเตรเลีย ถึง 4 กรอบเจรจา ได้แก่ เอฟทีเอไทย - ออสเตรเลีย เอฟทีเออาเซียน - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ กรอบเจรจาความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) และกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP)

    ส่วนเอฟทีเอที่ไทยทำกับญี่ปุ่น ก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างความตกลงทางหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับไทย (JTEPA) ข้อตกลงเอฟทีเออาเซียน - ญี่ปุ่น (RCFP)ส่วนไทยกับเกาหลีใต้ก็มีความเกี่ยวข้องในกรอบการเจรจาอาเซียน - เกาหลี การเจรจา RCEP และข้อตกลงหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด (CEPA)

    อนาคตอันใกล้นี้เศรษฐกิจโลกจะยังคงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เศรษฐกิจหลักของโลก จะขยายตัวสูงมากเหมือนในอดีต ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียมีความเป็นไปได้สูงกว่า ดังนั้นแนวโน้มที่ประเทศต่างๆในเอเชียจะสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในรูปแบบเอฟทีเอก็ยังมีอีกมาก

    กระทรวงพาณิชย์ที่เป็นผู้รับผิดชอบมีแผนที่จะเจรจาเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การเจรจากับประเทศเกาหลีไทยอยู่ในระหว่างขั้นตอนการเจรจา CEPA ซึ่งประเทศไทยเองก็ยังไม่ชัดเจนว่าเราจะสามารถรับเงื่อนไขของเกาหลีได้มากน้อยแค่ไหน และมีความพร้อมในการเจรจากรอบการค้าเสรีนี้แค่ไหน

    “ในการเจรจากับเกาหลีใต้ เมื่อเราพูดถึงเรื่องของภาษีเกาหลีใต้ก็บอกไม่มีปัญหา สามารถลดได้ถึง 80% แต่เรามีแผนที่จะเจรจาในเรื่องการใช้ประโยชน์หรือไม่เพราะหากลดภาษีได้มาก แต่เงื่อนไขที่เขาหยิบยื่นมาภาคเอกชนของเราใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ในการเจรจา”

    ทางออกที่ดีที่สุด คือ ก่อนที่จะมีการเจรจาเอฟทีเอเพิ่มเติมควร จะมีการประเมินการใช้ประโยชน์ในความตกลงเหล่านี้ก่อนว่า เอฟทีเอได้ช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อการค้าของไทยมากน้อยเพียงใด

    ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าระหว่างปี 2549 - 2555 ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากกรอบเอฟทีเอที่เจรจาไว้กับประเทศต่างๆไม่ถึงครึ่งหนึ่งของการส่งออกสินค้าโดยมีการใช้ประโยชน์ประมาณ 41.7% ของการส่งออก โดยเมื่อดูในรายกลุ่มประเทศพบว่าผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากกรอบเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศอาเซียน 27.2% และนอกกลุ่มประเทศอาเซียน 28.1%

    ประเทศที่ผู้ส่งออกไทยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือประเทศจีน และอินเดีย ส่วนประเทศอื่นๆ อัตราการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ปรับเพิ่มขึ้นในบางปีและลดลงในบางปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การค้าระหว่างไทยกับประเทศนั้นๆ ขณะที่การนำเข้าสินค้าที่คู่ค้าใช้สิทธิ์นำเข้าสินค้ามายังไทยที่ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอกลับมีน้อยมาก คือ ประมาณ 12.2% ของสินค้านำเข้าทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าอัตราการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ผ่านมายังไม่มากนักและจำกัดอยู่เพียงบางรายการ ต้องหันกลับมามองว่าอุปสรรคการค้าเกิดจากอะไรและสามารถแก้ไขจากการเซ็นสัญญาเอฟทีเอฉบับใหม่เพิ่มได้หรือไม่

    กระทรวงพาณิชย์ควรจะใช้เวลาในช่วงนี้ทบทวนกรอบเจรจาเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างเจรจา เช่น เอฟทีเอไทย - อินเดีย และเอฟทีเอไทย - เปรู ที่มีการเจรจาแล้วแต่ยังไม่ได้มีการลงนามโดยรัฐบาลทั้งสองประเทศ เนื่องจากติดเงื่อนไขของไทยที่จะต้องมีการพิจารณาโดยรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190

    “ไทยยังคงเพิ่มจำนวนเอฟทีเอ แต่เรากลับยังไม่ได้ใช้ข้อผูกพันในเอฟทีเอไปเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างจริงจัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะลงไปดูในรายละเอียดว่าใครใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออย่างไรบ้าง และคนกลุ่มไหนที่น่าจะอยู่ในกลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ เนื่องจากมีภาษีที่สูงแต่กลับไม่ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ต้องมีการสำรวจว่ากลุ่มนี้มีข้อจำกัดและปัญหาอะไร เพราะหากรู้ปัญหาตรงนี้เราจะกำหนดท่าทีการเจรจาในอนาคตก็จะดีขึ้น”

    ภาครัฐจะต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น เช่น ก่อนที่จะไปเจรจารัฐจะต้องมีข้อมูลและเข้าไปถามเจาะเพิ่มเติมจากภาคเอกชน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง ไม่ใช่จัดประชุมในห้องใหญ่ๆ ซึ่งไม่ได้ข้อมูลเชิงลึก ควรจะต้องลงไปในแต่ละคลัสเตอร์และสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งก่อนและหลังมีการเจรจาเอฟทีเอโดยเฉพาะเมื่อเจรจาแล้ว ทำไมภาคเอกชนไม่ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ อะไรคือปัญหาและอุปสรรค

    เช่น กรณีกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิด บางอย่างก็ล้าสมัยไปแล้วอย่างการส่งทีวีจากประเทศไทยไปออสเตรเลีย กำหนดว่าจะได้รับการยกเว้นภาษีต่อเมื่อ หลอดภาพภายในผลิตในประเทศไทย แต่ในทางปฏิบัติเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนเป็นทีวีจอแบน หลอดภาพนี้ผลิตแค่ใน 4 ประเทศทั่วโลก คือ จีน ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น ไม่มีที่ผลิตในไทย ผู้ส่งออกของไทยก็ใช้สิทธิตรงนี้ไม่ได้ กระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้าใจเงื่อนไขแบบนี้ และขยับการเจรจาเป็นการขอใช้ถิ่นกำเนิดในภูมิภาค แทนที่จะจำกัดเฉพาะกฎถิ่นกำเนิดสินค้าในประเทศเท่านั้น

NEWS & TRENDS