นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 23เมษายน 2557 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 33 ราย ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ยื่นขออนุญ..
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 23เมษายน 2557 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวน 33 ราย ซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ยื่นขออนุญาตครั้งแรกจำนวน 19 ราย ทั้งนี้ การอนุญาตทำให้คนต่างด้าวต้องนำเงินเข้ามาลงทุนในการประกอบธุรกิจจำนวน 868 ล้านบาท และมีการจ้างงานคนไทยจำนวน 398 คน ซึ่งธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจบริการ จำนวน 23 ราย (คิดเป็นร้อยละ 70 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 594 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่มเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน บริการทางบัญชี ให้เช่าที่ดินและพื้นที่อาคาร เป็นต้น ประเทศที่ได้รับอนุญาตได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร หมู่เกาะเคย์แมน เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย
2. ธุรกิจสำนักงานผู้แทน/สำนักงานภูมิภาค จำนวน 5 ราย (คิดเป็นร้อยละ 15 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 15 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ การผลิต การตลาด การลงทุน ตลอดจนความต้องการใช้สินค้าและบริการต่างๆ ในประเทศไทยให้สำนักงานใหญ่ทราบ ประเทศที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกงและสิงคโปร์
3. คู่สัญญากับภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 ราย (คิดเป็นร้อยละ 6 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 243 ล้านบาท ได้แก่ บริการจัดหา ก่อสร้าง และติดตั้งสายส่งไฟฟ้าแรงสูงให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริการออกแบบ จัดหาวัสดุและอุปกรณ์ ก่อสร้าง ติดตั้ง ทดสอบเครื่องจักรและระบบการทำงานต่างๆ สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวให้แก่บจ. พีทีที แอลเอ็นจี ประเทศที่ได้รับอนุญาตได้แก่ ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี
4. ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 2 ราย (คิดเป็นร้อยละ 6 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 10 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกแม่พิมพ์สำหรับการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับรถยนต์ และการค้าปลีกเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการปรุงรสและกระบวนการบรรจุหีบห่ออาหารให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ประเทศที่ได้รับอนุญาตได้แก่ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย
5. ธุรกิจนายหน้าตัวแทน จำนวน 1 ราย (คิดเป็นร้อยละ 3 ของธุรกิจที่ได้รับอนุญาต) มีเงินลงทุนจำนวน 6 ล้านบาท ได้แก่ การทำกิจการนายหน้าในการจำหน่ายหรือจัดหาตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อการจำหน่ายสินค้าให้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศ ประเทศที่ได้รับอนุญาตคือ ญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2557 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 27 ในขณะที่เงินลงทุนลดลงร้อยละ 61 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ในขณะที่เงินลงทุนลดลงถึงร้อยละ 83 เนื่องจากในเดือนเมษายน 2556 มีการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจรับค้ำประกันหนี้ให้แก่บริษัทในเครือซึ่งเป็นธุรกิจ ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 (มกราคม-เมษายน 2557) คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วจำนวน 119 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,683 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงร้อยละ 7 และเงินลงทุนลดลงร้อยละ 35 เนื่องจากในปี 2557 มีสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองซึ่งอาจ ทำให้คนต่างด้าวมายื่นขออนุญาตลดลง