นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสแรกปี 2557 ที่ผ่านมา มีจำนวนคำขอมาตรวจเครดิตบูโรของตนเองเป็นจำนวน 1 ล้านรายการต่อเดือน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 1.2 ล้านรายการ ต่อเดือน ถือว่าลดลง ร้อยละ 20..
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสแรกปี 2557 ที่ผ่านมา มีจำนวนคำขอมาตรวจเครดิตบูโรของตนเองเป็นจำนวน 1 ล้านรายการต่อเดือน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 1.2 ล้านรายการ ต่อเดือน ถือว่าลดลง ร้อยละ 20 เพราะมีการเข้มงวดสำหรับการขอสินเชื่อของสถาบันการเงินมากขึ้น และสถาบันการเงินมีการเพิ่มเกณฑ์การขอสินเชื่อ เช่น ต้องมีรายได้ขั้นต่ำต่อเดือน 8,000-10,000บาท ขึ้นไป จากเดิม 5,000-7,000 บาท ทำให้การขอสินเชื่อยากขึ้น
สำหรับลูกค้าเก่าที่เป็นหนี้ สถาบันการเงินมีการตรวจประวัติการชำระถี่ขึ้น โดยดูทุกบัญชี ทุกเดือน ตรวจทั้งคุณภาพหนี้ และประวัติการชำระ โดยมีคำขอมาตรวจเครดิตบูโร จำนวน 3 ล้านรายการต่อเดือน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 1 ล้านรายการต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า สาเหตุเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ชะลอตัว ทำให้สถาบันการเงินกังวลว่า ลูกค้าอาจจะมีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และ ต้องบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสีย
นายสุรพล กล่าวว่า ในบัญชีเงินกู้ 47 ล้านบัญชีต่อเดือน พบว่ามีบัญชีที่ไม่มีการค้างชำระ โตขึ้นร้อยละ 10 แต่ก็พบบัญชีที่เป็นหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอล เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เช่นกัน และมีบัญชีที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือบัญชีที่เริ่มผิดนัดชำระ 1 เดือน แต่ยังไม่ถึง 3 เดือน โตขึ้นประมาณร้อยละ 30 แต่หากเทียบกับในอดีต อัตราการขยายตัวของบัญชีดังกล่าวลดลง แสดงว่าเมื่อลูกหนี้เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ สถาบันการเงินจะรีบเข้าไปดูแล ยืดหนี้ หรือให้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย หรือเงินต้น เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เอ็นพีแอล
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแม้ภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว และมีปัญหาหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มบ้าง แต่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้จำนวนมาก
ที่มา : www.bangkokbiznews.com