กรมพัฒน์ยืนยันหนังสือรับรองนิติบุคคลขอผ่านธนาคารของจริง 100%

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยืนยันหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ขอผ่านธนาคาร หรือ e-Certificate เป็นเอกสารทางราชการจริง ถูกต้องเชื่อถือได้

 
 
                   กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยืนยันหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ขอผ่านธนาคาร หรือ e-Certificate เป็นเอกสารทางราชการจริง ถูกต้องเชื่อถือได้ตามรายการที่นิติบุคคลจดทะเบียนไว้ สามารถใช้อ้างอิงทางกฎหมายได้ 100% ผู้รับบริการสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ด้วยตนเอง อนาคต! เตรียมขยายการให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลฯ เพิ่มมากขึ้น รองรับการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 มั่นใจสร้างความสะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการและประชาชนได้เป็นอย่างมาก

                   นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้ขอรับบริการหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่พิมพ์ออกผ่านสาขาธนาคาร หรือ e-Certificate มีความคลางแคลงใจถึงความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ และสถานะทางกฎหมายของหนังสือรับรองนิติบุคคลฯ นั้น

                  "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอชี้แจงว่า หนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่พิมพ์ออกผ่านสาขาธนาคารพันธมิตร 6 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ออมสิน กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และ ธนชาต จำนวนรวมกว่า 3,900 สาขาทั่วประเทศ เป็นหนังสือที่นายทะเบียนได้คัดลอกเนื้อความและรับรองความถูกต้องตามรายการที่ จดทะเบียนไว้

    โดยนายทะเบียนจะลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ "Digital Signature” ผ่านระบบสิ่งพิมพ์ออก ซึ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ "สพธอ.” โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองระบบการพิมพ์ออกจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
    ดังนั้น หนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่พิมพ์ออกผ่านสาขาธนาคาร จึงเป็นเอกสารต้นฉบับที่สามารถใช้อ้างอิงได้ตามกฎหมาย มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ตามรายการที่จดทะเบียนไว้ เช่นเดียวกับการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลที่ขอผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งนี้ หนังสือรับรองนิติบุคคลฯ นั้น สามารถ บ่งบอกถึงสถานะและการเปลี่ยนแปลงของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งใช้เป็นพยานเอกสารได้ตามกฎหมายลักษณะพยาน รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้เป็นเอกสารอ้างอิงหรือใช้เป็นเอกสารประกอบในการทำสัญญาต่างๆ

                    ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนทั่วไป สามารถตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือรับรองนิติบุคคลฯ ที่ขอผ่านสาขาธนาคาร ได้ 4 วิธี คือ 1) ตรวจสอบจาก QR Code โดยใช้อุปกรณ์และโปรแกรมที่สามารถอ่านรหัส QR Code 2) ตรวจสอบจากตัวอักษร Micro Text เอกสารต้นฉบับสามารถอ่านข้อความ "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า Department of Business Development” ได้ แต่หากนำไปถ่ายสำเนาก็จะไม่สามารถอ่านข้อความนั้นได้ 3) ตรวจสอบจาก Reference Number (Ref) โดยสามารถนำตัวเลข Ref (ประกอบด้วยตัวเลข 14 หลัก) ไปตรวจสอบหน้าเว็บไซต์ www.dbd.go.th โดยเข้าเมนู "ตรวจสอบข้อมูลหนังสือรับรองนิติบุคคลอิเล็กทรอนิกส์" จะพบหน้าหนังสือรับรองที่มีข้อความตรงกัน 4) ตรวจสอบจาก Watermark หรือ เส้นลายน้ำ บนกระดาษที่เป็นตัวอักษร DBD ปกติจะเป็นสีเทาอ่อน หากนำไปถ่ายสำเนาที่ระดับความเข้มปกติภาพลายน้ำจะไม่ปรากฏ หากนำไปถ่ายสำเนาที่ระดับความเข็มมากกว่าปกติ ลายน้ำจะมีสีเข้มไม่คมชัด”

                 อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า "สำหรับกำหนดระยะเวลาหรืออายุของหนังสือรับรองนิติบุคคลนั้น ตามกฎหมายไม่ได้มีการกำหนดวันหมดระยะเวลาหรืออายุของหนังสือรับรองฯ นั้นไว้ จนกว่าจะมีการแก้ไขรายการทางทะเบียน การกำหนดระยะเวลาหรืออายุของหนังสือรับรองขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่จะนำไปใช้อ้างอิงหรือนำไปใช้เป็นหลักฐานมากกว่า”

                 ทั้งนี้ การให้บริการหนังสือรับรองนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคาร หรือ e-Certificate เป็นความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากับธนาคารพันธมิตร 6 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ออมสิน กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และ ธนชาต เริ่มให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 โดยในปี 2555 มีการให้บริการออกหนังสือรับรองฯ จำนวน 41,016 ฉบับ ปี 2556 จำนวน 80,438 ฉบับ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 96) และปี 2557 (1 มกราคม - 31 มีนาคม 2557) จำนวน 25,788 ฉบับ

                 ปัจจุบัน มีสาขาธนาคารพันธมิตรให้บริการออกหนังสือรับรองฯ กว่า 3,900 สาขาทั่วประเทศ โดยในอนาคตจะมีการขยายสาขาการให้บริการฯ เพิ่มมากขึ้น ให้ครอบคลุมพื้นที่ตามความต้องการของผู้ขอรับบริการให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ทั้งนี้ การให้บริการออกหนังสือรับรองฯ เป็นการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป อันเป็นการเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

NEWS & TRENDS