​เตือนใจองค์กรธุรกิจ เปิดAEC หวั่นสมองไหล

กลุ่มสายงานวิศวกร ความต้องการในตลาดสูง รับอุตสาหกรรมเติบโตทั้งภายในและนอกประเทศ แนะวิศวกรรุ่นใหม่เร่งพัฒนาทักษะด้านภาษา เพื่อตอบรับการเปิด AEC


 
    กลุ่มสายงานวิศวกร ความต้องการในตลาดสูง รับอุตสาหกรรมเติบโตทั้งภายในและนอกประเทศ แนะวิศวกรรุ่นใหม่เร่งพัฒนาทักษะด้านภาษา เพื่อตอบรับการเปิด AEC
 
    จากสภาวะความขัดแย้งของบ้านเมืองที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงในปัจจุบัน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการหาข้อสรุป เป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญค่อนข้างมากต่อจังหวะการฟื้นตัว ที่ส่งผลให้เกิดการกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งการบริโภค และภาคเอกชนที่ชะลอการลงทุน ทำให้สถานการณ์ตลาดแรงงานในปี 57 นี้ ต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายอย่างรอบด้าน แต่ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมภายในประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ กลุ่มสายงาน "วิศวกร" จึงถือว่าเป็นตำแหน่งงานที่เป็นพื้นฐานสำคัญของทุกอุตสาหกรรมที่ขาดไม่ได้ เพราะโลกเทคโนโลยีมีความก้าวล้ำอยู่เสมอ ต้องอาศัยผู้ที่มีทักษะความชำนาญเฉพาะด้านมาเป็นผู้ควบคุมดูแล ยิ่งเมื่อใกล้เปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กลุ่มสายงานวิศวกร ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก เพราะแต่ละองค์กรก็ย่อมต้องการคนที่เก่งและชำนาญการที่สุดไปร่วมงาน
 
    ผลสรุปจากการศึกษาหรือสำรวจของ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย จาก มร.ไซมอน แมททิวส์, ผู้จัดการประจำประเทศไทย, แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ได้ให้ความเห็น อย่างน่าสนใจว่า กลุ่มสายงานวิศวกร ในประเทศไทย ยังคงเป็นสายงานที่มีความต้องการสูง ถึงร้อยละ 25  จากยอดรวมของสายงานทั้งหมดของแมนพาวเวอร์ (ประเทศไทย) และยังมีแนวโน้มความต้องการของตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้นตามสภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อัตราความต้องการก็มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นไปอีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอัตราส่วนจะอิงกับการลงทุนที่เข้ามา ยังคงเชื่อมโยงไปถึงปัจจัยสำคัญ คือ การเมือง และเศรษฐกิจของไทย
 
    ในช่วงที่ผ่านมามีการหลั่งไหลของแรงงานจากเพื่อนบ้านอาเซียนมาสู่ไทย อาทิ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์, ประเทศพม่า เป็นต้น จนมีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า แรงงานด้านวิศวกรของไทย จะถูกแย่งงานจากแรงงานวิศวกรต่างชาติหรือไม่? สิ่งนี้ยังคงเป็นที่คาดเดาของหลายฝ่าย แต่ตราบใดที่หัวหน้าสายงานเป็นคนไทย ก็ยากที่แรงงานจากต่างชาติจะเข้ามาแย่งงานไปได้ อาจด้วยปัญหาจากภาษา แม้จะได้เปรียบในเรื่องภาษาอังกฤษ แต่ยังคงขาดทักษะในด้านภาษาไทย แต่สิ่งที่อาจจะเป็นปัญหา และน่ากังวลยิ่งกว่าในอนาคต สำหรับองค์กรธุรกิจไทย ควรพึ่งระวังให้มากก็คือ ปัญหาสมองไหล เพราะเมื่อเปิด AEC ในปี 58 มีโอกาสสูงที่บุคลากรที่มีทักษะและความสามารถสูงจะถูกดึงตัวไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเทศพม่า, ประเทศกัมพูชา, ประเทศเวียดนาม และลาว ดังนั้นนายจ้างต้องวางมาตรการ เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าว และพยามยามรักษาแรงงาน กลุ่มสายงานวิศวกรฝีมือดี เพราะวิศวกรไทยจำนวนมากยังขาดแรงจูงใจในการทำงานต่างประเทศ ตามธรรมชาติของคนไทย ไม่ค่อยอยากทำงานประเทศอื่น  เนื่องจากภาระหน้าที่ในครอบครัว  หากต้องย้ายไปทำงานประเทศอื่นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจ้างมีข้อเสนอที่ดีพอ
 
           
            ในส่วนความเปลี่ยนแปลงของแรงงานวิชาชีพของกลุ่มสายงานด้านวิศวกรหลังการเปิดAEC นั้น ยังมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาอยู่มาก เพราะทักษะสำคัญที่ วิศวกรไทยยังขาดอยู่ คือ ภาษาพูด การสื่อสารให้เข้าใจ ในเรื่องของภาษาอังกฤษ ที่ทำให้เราตกเป็นรองจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ยิ่งในกลุ่มของวิศวกรไทยที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ถึงแม้ในด้านของเทคนิค ถือว่ามีฝีมือไม่แพ้ชาติใด แต่ในเรื่องของภาษาต้องมีการพัฒนาขึ้นอีกมาก เพื่อถีบตัวขึ้นในสนามแข่งขันโลก แต่ในส่วนของวิศวกรรุ่นใหม่ ถือว่า มีทักษะในเรื่องของภาษาค่อนข้างดี และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์บางส่วน มีการถูกจองตัวจากบริษัทใหญ่ค่อนข้างแน่นอน โดยใช้เกณฑ์วัดจากเกรดเฉลี่ย ตั้งแต่ 3.80 ขึ้นไป  ส่วนภาษาอังกฤษต้อง สอบวัดระดับภาษาต่างประเทศ(TOEIC) ได้คะแนนตั้ง 650 ขึ้นไป
 
            ปัจจุบัน อาเซียนมีวิศวกรไม่ถึงร้อยละ 0.25 ของประชากรอาเซียนทั้งหมด ประเทศที่มีสัดส่วนผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรมากที่สุด คือ สิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 2.1 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่เทียบเป็นจำนวน เวียดนามมีวิศวกรสูงสุดอยู่ที่ 8 แสนคน รองลงมาคือ อินโดนีเซีย และไทย สายงานด้านวิศวกรนั้น ยังแบ่งออกเป็นอีกหลายสาขา เช่น วิศวกรเครื่องกล, วิศวกรไฟฟ้า, วิศวกรรมอุตสาหการ, วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมยานยนต์ เป็นต้น  ซึ่งแต่ละประเทศ ต่างมีจุดแข็งของงานด้านวิศวกรต่างกันออกไป ในประเทศไทยงานวิศวกรรมยานยนต์ ถือว่าเป็นจุดแข็ง เพราะไทยมีฐานการผลิตใหญ่ และเป็นศูนย์กลางของอาเซียน อีกทั้งเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกและคล่องตัวที่สุด สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ 4 ประเทศ 10 เส้นทาง
 
           
 
           

NEWS & TRENDS