​หนุนอุตฯสิ่งทอสู่ Thai Eco fiber รับตลาดรักษ์โลก

สถาบันฯสิ่งทอ เร่งผลักดันอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยสู่ Thai Eco fiber ขานรับกระแสเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดกิจกรรมสร้างความตื่นตัวให้กับการนำวัสดุเหลือใช้ด้านการเกษตรมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ Life style พุ่งเป้าโกอินเตอร์



สถาบันฯสิ่งทอ เร่งผลักดันอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยสู่ Thai Eco fiber ขานรับกระแสเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดกิจกรรมสร้างความตื่นตัวให้กับการนำวัสดุเหลือใช้ด้านการเกษตรมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ Life style พุ่งเป้าโกอินเตอร์

    นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สถาบันฯสิ่งทอได้เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยสู่ Thai Eco fiber  นำใบสับปะรด  ต้นกัญชง และเศษริมไหม วัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรและอุตสาหกรรม สู่การวิจัยพัฒนา 3 เส้นใยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถักทอเป็นผ้าผืนต้นแบบโครงสร้างใหม่ในชีวิตประจำวัน  พร้อมทั้งยังผลักดันสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นผ่านดีไซเนอร์ แปรรูปเป็นคอลเลกชันหรือผลิตภัณฑ์ Life style พุ่งเป้าสร้างเส้นใยที่หลากหลายสู่อุตสาหกรรมเพื่อลดการพึ่งพาฝ้ายและตอบสนองความต้องการของตลาดรักษ์โลกที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น

        ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกเส้นใยธรรมชาติในปี 2013 ของไทยมีมูลค่า 26.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (24,353.65 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 จากปีก่อน ในขณะที่การส่งออกเส้นใยสังเคราะห์มีมูลค่า 642.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5,731.65 ล้านบาท) ขยายตัวลดลงร้อยละ 4.55 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความต้องการบริโภคเส้นใยธรรมชาติมีมากขึ้น

        นางสุทธินีย์  กล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2557 สถาบันฯสิ่งทอได้ดำเนินงานโครงการต่างๆภายใต้งบสนับสนุนจากหลายภาคส่วน โดยในภาพรวมแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจากวัฒนธรรม เช่น โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้  กลุ่มโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ด้านสิ่งทอ และกลุ่มการพัฒนาโครงการในด้านเส้นใย เช่น โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยเส้นใยต้นแบบและออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบภาคการเกษตรด้วยการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อเร่งยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งระบบให้สามารถแข่งขันได้

        นอกจากนี้ทางสถาบันฯสิ่งทอยังได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตื่นตัวกับกระแสดังกล่าว ได้แก่ 1.การศึกษาแนวโน้มของนวัตกรรมการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง  2.การพัฒนาเส้นใยจากวัตถุดิบภาคการเกษตรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนา 3 เส้นใย สู่ผ้าผืน คือ สับปะรด กัญชง และเศษริมไหม  และ 3. การประกวดงานออกแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Creative Textiles Award 2014) โดยเลือกผ้าจากงานวิจัย 3 เส้นใยธรรมชาติในโครงการ มาตัดเย็บภายใต้คอนเซ็ปต์ สินค้าแฟชั่น หรือ สินค้า Life Style ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมส่งผลงานรวม 101 ผลงาน  โดยจะคัดเลือกให้เหลือ 20 ผลงานก่อนนำไปสู่การประกวดในรอบชิงชนะเลิศและประกาศผลในช่วงปลายเดือนกันยายน 2557  

ที่มา : www.thanonline.com


NEWS & TRENDS