เด็กไทยเมิน "สายอาชีพ" ส่งผลแรงงานภาคผลิตขาดแคลนหนัก

สศค. วิเคราะห์แนวโน้มแรงงานไทย ชี้เด็กไทยแห่เรียนต่อ ป.ตรี เมินสายอาชีพ ส่งผลแรงงานฝีมือภาคการผลิตขาดแคลน โดยเฉพาะกลุ่มอุตฯเครื่องนุ่มห่อม สิ่งทอ ผลิตเฟอร์นิเจอร์





    สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ได้วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์แรงงานของไทย ว่า ปัญหาแรงงานของไทยส่วนใหญ่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานประเภทไร้ฝีมือ โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมการผลิตเพชรพลอย อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เป็นต้น

    ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่านิยมทางการศึกษาของเด็กไทยที่นิยมศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมากกว่า “สายอาชีพ” ทำให้แรงงานที่จบออกมาสำหรับภาคการผลิตของไทยมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน จนนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต

                 โดยข้อมูลล่าสุดการจ้างงานในภาคการผลิต ช่วง 5 เดือนแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 6.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 86,000 คน สะท้อนได้ว่าความต้องการแรงงานในสาขาการผลิตของไทยยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ซึ่งปัจจุบันจำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน ในประเทศไทยมีประมาณ 1.5 ล้านคน

                “ แรงงานไทยมีแนวโน้มตึงตัวในบางสาขาที่มีความต้องการต่อตลาดแรงงานไม่ทันต่อความต้องการของภาคการผลิต”

               อย่างไรก็ดีปัจจัยสนับสนุนจากความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้จ่ายภาคเอกชนซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการรับบุคลากรเพิ่มในอนาคต

                สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานของไทยโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราการว่างงานในเดือน พ.ค. 2557 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 362,000 คน

ที่มา : แนวหน้า

NEWS & TRENDS