รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยถึงการจัดงาน วิกฤตบัณฑิตไทย...ความท้าทาย โอกาสและแนวทางการพัฒนา ที่ได้เชิญตัวแทนมหาวิทยาลัยภาคกลางจำนวน 86 แห่ง
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยถึงการจัดงาน วิกฤตบัณฑิตไทย...ความท้าทาย โอกาสและแนวทางการพัฒนา ที่ได้เชิญตัวแทนมหาวิทยาลัยภาคกลางจำนวน 86 แห่ง อาจารย์จำนวน 300 คน และนักศึกษา 700 คนเข้าร่วมงาน ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ณ หอประชุม มทร.ธัญบุรี ว่า
ภายในงานจะมีการเสวนา เรื่อง ตรวจแถวการผลิตบัณฑิตไทย โดย รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ เป็นวิทยากร และ การบรรยายพิเศษ เรื่อง ติดตามการผลิตบัณฑิตไทย แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการศึกษาไทย ในมุมมองของผู้ใช้บัณฑิต
ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ จะทำให้ทุกมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมงานได้รับข้อมูลจากหลายฝ่ายที่จะสะท้อนกลับมาที่มหาวิทยาลัยให้ปรับปรุงแก้ไขการผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองสังคม สถานประกอบการและเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ รวมถึงมหาวิทยาลัยจะปรับปรุงการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อรองรับ GEN Y และ GEN Z ให้เป็นคนดีและคนเก่ง สนองตอบสังคมและภาคอุตสาหกรรม
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวต่อว่า วิกฤตบัณฑิตไทยขณะนี้คือจะทำอย่างไรให้บัณฑิตมีสมรรถนะที่ตรงต่อความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งคาดหวังให้บัณฑิตทำงานได้ มีวุฒิภาวะทางสังคม และรักองค์กร และที่วิกฤตไปกว่านั้นก็คือการขาด Soft skill โดยต้องเร่งพัฒนาทั้งเรื่องความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ สู้งาน ตรงต่อเวลา ทำงานร่วมกับคนที่หลากหลายต่างวัฒนธรรมได้
ทั้งนี้อยากให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีแนวทางปฏิรูปหลักสูตร ควรมีการจัดหลักสูตรที่เอื้อต่อภาวะปัจจุบันที่พบว่ามีนักศึกษาบางกลุ่มที่ต้องออกไปทำงาน มหาวิทยาลัยในกรอบของ สกอ.ควรมีการขยายให้มีการเรียน 6-8 ปี หรือ 2 เท่าของหลักสูตร ซึ่งหากขณะนี้นักศึกษาเรียน 2 ปี แต่ต้องออกไปทำงาน จะต้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ 2 ปีที่เรียนไม่สูญเปล่า มหาวิทยาลัยสามารถออกประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ให้กับนักศึกษาได้ และให้สามารถกลับเข้าเรียนต่อได้ ไม่ให้ขาดไปจากระบบการศึกษา โดยอาจแบ่งเวลาเรียนวันเสาร์- อาทิตย์ เก็บหน่วยกิตเป็นรายวิชา เพื่อให้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งจุดนี้เป็นโจทย์ในการพัฒนาหลักสูตร
ที่มา : แนวหน้า