​รื้อกฏหมายแข่งขันการค้าห้าม 10 วิสาหกิจผูกขาด

กรมการค้าภายใน เตรียมเสนอให้ที่ประชุมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่จะตั้งขึ้น พิจารณาแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า ดึง 10 รัฐวิสหกิจใช้ด้วยเพื่อความเป็นธรรม



    กรมการค้าภายใน เตรียมเสนอให้ที่ประชุมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่จะตั้งขึ้น พิจารณาแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า ดึง 10 รัฐวิสหกิจใช้ด้วยเพื่อความเป็นธรรม

    นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน เตรียมเสนอให้ที่ประชุมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่จะตั้งขึ้น พิจารณาแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า โดยถือว่าเป็นกฎหมายเร่งด่วน ภายใต้กฎหมายจำนวน 42 ฉบับ ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายให้ปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชน และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯจะอยู่ในข่ายการนำมาอยู่ภายใต้การดูแลของกฎหมายฉบับนี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในข่ายจำนวน 10 แห่ง ส่วนการบังคับใช้กฎหมายคาดว่าจะใช้เวลาภายใน 1 ปี หลังจากนี้ เพื่อดูแลให้การแข่งขันทางการค้ามีความเป็นธรรมอยู่มากขึ้น และลดการผูกขาด

    วัตถุประสงค์การปรับปรุงกฎหมายก็เพื่อให้กฎหมายแข่งขันทางการค้ามีความเป็นสากลมากขึ้นหลังจากที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกือบ 200 แห่งมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว อีกทั้งยังเป็นการรองรับที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) จะต้องทำให้กฎหมายมีความโปร่งใส เป็นธรรม และช่วยสร้างความเชื่อมั่น และดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในประเทศมากขึ้น

    นายสันติชัย กล่าวว่า สำหรับรัฐวิสาหกิจที่จะนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรกๆ คือ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เพราะได้รับการร้องเรียนมามาก และกำลังเป็นที่ถกเถียงกันในขณะนี้ แต่ยังมีรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น บริษัทการบินไทย (มหาชน) จำกัด ส่วน บริษัททีโอที (มหาชน) จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม (มหาชน) อาจจะใช้กฎหมายที่ดูแลเฉพาะธุรกิจนั้นเข้ากำกับดูแล

    นอกจากนี้จะมีการเสนอให้ปรับปรุง สำนักงานแข่งขันทางการค้าเป็นองค์กรอิสระ ให้สามารถทำงานได้คล้ายๆ กับการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) โดยจะศึกษารูปแบบการทำงานลักษณะนี้ แต่อาจจะยังให้อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ และจะให้การตั้งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มีอิสระในการทำงานปลอดจากการครอบงำของฝ่ายการเมืองมากขึ้น

ที่มา : แนวหน้า

NEWS & TRENDS