ายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 9 แสนล้านบาทภายใน 12 เดือน จากระดับ 8.99 ล้านล้านบาท เป็น 9.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 82% ของจีดีพี จากระยะอันตรายที่ระดับ 85% โดยระดับที่ 82% ของจ..
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 9 แสนล้านบาทภายใน 12 เดือน จากระดับ 8.99 ล้านล้านบาท เป็น 9.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 82% ของจีดีพี จากระยะอันตรายที่ระดับ 85% โดยระดับที่ 82% ของจีดีพีในปัจจุบันนั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ โดยกลุ่มลูกหนี้ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มที่เงินเดือนน้อยกว่า10,000 บาท
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.) ระบุว่า ปี 2552 คนกลุ่มนี้ต้องจ่ายหนี้ประมาณ 4,500 บาทต่อเดือน ขณะที่ปี 2556 ต้องจ่ายหนี้เพิ่มขึ้น 6,100 บาทต่อเดือน ซึ่งน่ากังวลมาก เพราะจะเหลือเงินใช้เพียง 3,900บาท เมื่อหาร 30 วันแล้ว จะเหลือเงินใช้เพียงวันละ 130 บาท จะอยู่ได้อย่างไร ก็ต้องกู้หนี้นอกระบบเพิ่มไปอีก
"จำนวนประชากรในปัจจุบันอยู่ที่ 67 ล้านคน เป็นคนทำงาน 40 ล้านคน มีจำนวนคนที่เป็นหนี้และเครดิตบูโรมีข้อมูล 26 ล้านคน มีบัญชีทั้งหมด 72 ล้านบัญชี และมี 1.1 ล้านบัญชีที่เริ่มมียอดค้างชำระ 1-3 เดือน โดยเพิ่มขึ้นจาก 8.5 แสนบัญชีในอดีต นั่นหมายความว่าคนที่มีการค้างชำระในช่วง 12 เดือนย้อนหลังมีจำนวนมากขึ้น และหากคนกลุ่มนี้เริ่มไปก่อหนี้ใหม่ อาจจะเกิดประเด็นที่น่ากังวลได้" นายสุรพล ระบุ
ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร กล่าวอีกว่า แนวโน้มของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และหนี้ครัวเรือนในอนาคตน่าจะปรับลดลงได้ เพราะปัจจุบันธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ประกอบกับตัวลูกค้าหรือผู้ที่ต้องการสินเชื่อเองก็มีความใส่ใจในการตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองมากขึ้น จากอดีตที่มีการตรวจสอบเครดิตบูโรอยู่ที่ 5 หมื่นครั้งต่อปี ปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 5 หมื่นครั้งต่อเดือนแล้ว
ขณะที่ปัญหาเรื่องหนี้สินในปัจจุบัน แม้จะยังไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่ก็ต้องมีการส่งสัญญาณเตือนให้กับลูกหนี้บางกลุ่ม เพื่อป้องกันการเป็นหนี้เสียในอนาคต และบางกลุ่มอาจจะมีการสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นแล้วแต่กรณี
"หากเรามองปัญหาหนี้ในปัจจุบัน กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท หากเปรียบเป็นสัญญาณไฟก็ประมาณสีส้ม คือเกือบจะเป็นแดงและถือว่าน่าเป็นห่วง ส่วนกลุ่มที่มีรายได้ 10,000-30,000 บาท เรามองว่าเป็นสีเขียวเกือบจะเหลืองแล้ว ส่วนกลุ่มอื่นๆ ยังไม่มีประเด็นน่ากังวล"นายสุรพล ระบุทิ้งท้าย
ที่มา : www.bangkokbiznews.com