สอศ.ทุ่ม 82.5 ล้านบาท รณรงค์ 'อาชีวะสร้างชาติ' หวังกระตุ้นเด็กเข้าเรียนอาชีวะหลังตัวเลขเด็กเรียนอาชีวะลดฮวบ
สอศ.ทุ่ม 82.5 ล้านบาท รณรงค์ 'อาชีวะสร้างชาติ' หวังกระตุ้นเด็กเข้าเรียนอาชีวะหลังตัวเลขเด็กเรียนอาชีวะลดฮวบ
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทุ่ม 82.5ล้าน ทำโครงการต่างๆ เพื่อเผยแพร่ค่านิยม “อาชีวะสร้างชาติ” ตามนโยบายที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศไว้และได้นำเรื่องการปรับภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษามาเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้เห็นผลภายใน 3 เดือน
ฉะนั้น ภายใน 3 เดือนนี้ สอศ.จะทุ่มรณรงค์ให้สังคมเข้าใจความหมายของค่านิยมอาชีวะสร้างชาติ ให้เห็นว่าการเรียนในสายอาชีพสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศได้
โดยการผลิตแรงงานที่มีคุณภาพให้กับภาคอุตสาหกรรม เมื่อภาคอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็งก็จะเพิ่มความศักยภาพในการแข่งขันของ ประเทศได้
นายชัยพฤกษ์ กล่าวว่า โครงการหลักสำหรับเผยแพร่การสร้างค่านิยมดังกล่าว มี 3 โครงการคือ 1. โครงการเสริมสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา ซึ่งทาง สอศ.ได้เสนองบประมาณจำนวน 15 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการ โดยจะเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเรียนอาชีวะแล้วสามารถทำงานเป็น มีงานทำ และมีความก้าวหน้าในอาชีพแน่นอน
2. โครงการเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม ที่ สอศ. ได้รับงบประมาณดำเนินการจำนวน 42.5 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาการทะเลาะวิวาท ซึ่งจะสอดแทรกการปลูกฝังค่านิยมอาชีสะสร้างชาติเข้าไปด้วย
3. โครงการอาชีวะอาสา งบประมาณจำนวน 25 ล้านบาท เป็นโครงการสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ไปทำโครงการจิตอาสา ออกค่ายอาสาทำประโยชน์ให้แก่สังคม โดยให้แต่ละวิทยาลัยเสนอโครงการเข้ามาขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก สอศ. ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสังคมให้แก่นักเรียนอาชีวะ
“เป็นนโยบายเร่งด่วน ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เห็นผลสัมฤทธิ์ภายใน 3 เดือน ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป ซึ่งการเปลี่ยนค่านิยมต่อการเรียนสายอาชีพให้กับสังคม เด็กและผู้ปกครอง จะส่งผลให้มีผู้สนใจเรียนจากอาชีพมากขึ้น โดยในปี 2558 นี้ทาง สอศ. มีเป้าหมายที่จะเพิ่มผู้เรียนทั้งระดับ ปวช.และ ปวส. ให้ได้ เพราะปี 2557 ที่ผ่านมา นักศึกษา ปวช. มีจำนวนลดลงไปถึง 1871 คน แต่นักศึกษา ปวส. มีเพิ่มมากขึ้นถึง 10,333 คน เชื่อว่าการแก้ปัญหาอาชีวะนั้นต้องเริ่มจากตัวผู้ปกครองและเด็กที่ต้องเปลี่ยนค่านิยมเสียใหม่
ส่วน สอศ.เองก็จะต้อง ทำให้เห็นว่าเรียนอาชีวศึกษาแล้ว จบมามีงานทำแน่นอน ซึ่งนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัย ต้องให้เด็กได้รับการฝึกฝนอย่างเต็มที่ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อสร้างคุณภาพให้กับนักศึกษาอาชีวะ” นายชัยพฤกษ์ กล่าว
ที่มา : www.bangkokbiznews.com