​วางยุทธศาสตร์ดันสิ่งทอศูนย์รวมออกแบบแฟชั่นปี 2564

เผยยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่การเป็นศูนย์รวมการออกแบบแฟชั่นสิ่งทอในปี 2564 และสร้างแบรนด์ไทยระดับโลก ปี 2573



     เผยยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่การเป็นศูนย์รวมการออกแบบแฟชั่นสิ่งทอในปี 2564 และสร้างแบรนด์ไทยระดับโลก ปี 2573 

    นายปราโมทย์  วิทยาสุข ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้กำหนดแผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยคู่ขนานไปกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์  ใน 2 แนวทาง คือ 1. พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปสู่ชีวภาพเต็มรูปแบบ (Bio-Based) และ 2. พัฒนาสู่เทคโนโลยีขั้นสูงและการสร้างสรรค์ (Hightech & Creative) โดยมีเป้าหมายระยะยาว ปี 2573 คือ มุ่งสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในระดับสากลอย่างยั่งยืน (Sustainability) จากการใช้วัตถุดิบที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทางชีวภาพ  และ สร้างการรับรู้และยอมรับตราสินค้าไทยในระดับโลก

    ด้าน นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอนั้น มีการกำหนดเป็นแผนระยะยาว 15 ปี ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2573 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยแบ่งเป็นเป้าหมาย 3 ระยะ คือ

     ระยะที่ 1 ในปี 2559 จัดตั้งให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านการค้า การจัดหาสิ่งทอแฟชั่น (Sourcing and Trade from Thailand) เป็นการขยายขอบเขตอุตสาหกรรมสู่ผู้ประกอบการระดับภูมิภาค (ASEAN Business) เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าให้เป็นศูนย์กลางการทำธุรกิจของอาเซียน

    ระยะที่ 2 ปี 2564 จัดตั้งให้ไทยเป็นศูนย์รวมการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ระดับโลก (Design and Development Solution for International Brands) เนื่องจากมีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคและบุคลากรที่เหมาะสมในการตั้งเป็นสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาค ตลอดจนมีการจัดจำหน่ายสินค้าต่างๆ ผ่านไทยไปยังภูมิภาคเอเชีย อาเซียน และเอเชียใต้

    และระยะที่ 3 ปี 2573 ผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำวัฒนธรรมแฟชั่น และการออกแบบสิ่งทอของโลก (Global Fashion Culture Influence) โดยการนำทุนวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีความเข้มแข็ง บูรณาการร่วมกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

    อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนาบรรลุเป้าหมายโดยสมบูรณ์ จึงมีการกำหนดตำแหน่งการตลาดของอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นไทยให้เป็นประเทศคู่ค้าที่ช่วยสร้างผลกำไรด้วยสินค้าและบริการที่ใหม่อยู่เสมอ โดยมีความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ ผ่านแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

    1. การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้เข้มแข็งและยั่งยืน ยกระดับห่วงโซ่อุปทานสู่การออกแบบด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ทั้งระบบ อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการ จัดตั้งกองทุนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและทักษะ ขยายระบบงานในธุรกิจ ฯลฯ

    2. การพัฒนาความสามารถในการตอบสนองตลาดของห่วงโซ่อุปทานที่ขยายสู่ภูมิภาค ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาทิ การประกาศพื้นที่ Fashion Industry Zone พัฒนาเขตเศรษฐกิจแฟชั่นครบวงจรที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตของภูมิภาค ฯลฯ

    3. การพัฒนาตำแหน่งทางการตลาด สร้างเวทีการออกแบบและการค้าระดับโลกในประเทศไทย โดยใช้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการนำการค้าการลงทุน การผลักดันมาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเป็นมาตรฐานอ้างอิงระดับภูมิภาค บูรณาการทุนวัฒนธรรมร่วมสมัยด้านแฟชั่นและสิ่งทอ กับผลิตภัณฑ์และบริการวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ อาหาร กีฬา ภาพยนตร์ และอื่นๆ ไปยังประเทศในอาเซียน รวมถึงจัดตั้งให้มีงานแสดงสินค้าที่สำคัญของโลกในไทย (World Class Market Place)

    4. การยกระดับโครงสร้างทุนมนุษย์ การพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะหลากหลายด้านความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ด้วยการยกระดับกระบวนการพัฒนาผู้สอนในสถานประกอบการ บูรณาการองค์ความรู้ที่ทันสมัยระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคการศึกษา โดยการส่งเสริมทุนวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาและอุตสาหกรรม พัฒนาผู้บริการระดับกลางและการบริหารงานอย่างมืออาชีพ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมที่ดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและบุคลากรในอนาคต โดยการส่งเสริมบุคลากรต้นแบบในอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับ

NEWS & TRENDS