พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว ปรับปรุง 6 ประเด็นปลดล็อกการลงทุนของต่างชาติ แก้นิยามต่างด้าวคุมสิทธิออกเสียง-อำนาจการบริหาร เตรียมถอด 4 ธุรกิจสถาบันการเงินออกจากบัญชีแนบท้าย 3 คาดสรุปผลได้ภายใน ธ.ค.นี้
กระทรวงพาณิชย์แจงแก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว ปรับปรุง 6 ประเด็นปลดล็อกการลงทุนของต่างชาติ แก้นิยามต่างด้าวคุมสิทธิออกเสียง-อำนาจการบริหาร เตรียมถอด 4 ธุรกิจสถาบันการเงินออกจากบัญชีแนบท้าย 3 คาดสรุปผลได้ภายใน ธ.ค.นี้
น.ส.ผ่อง พรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงกรณีที่ต่างชาติมีความกังวลเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ว่า จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนว่า กรมขอชี้แจงว่าขณะนี้การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและรับ ฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย หอการค้าต่างประเทศ ผู้ประกอบการและนักวิชาการ ยังไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมายแต่อย่างใด เพราะหลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้ว ต้องสรุปผลการศึกษาก่อนว่าจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2557 จากนั้นจะนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณา ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กรมได้ยึดเป้าหมายหลัก 4 ข้อตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ 1.เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ 2.ลดขั้นตอนการประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ 3.อำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน และ 4.ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจรายเดิม และยึดตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งส่งเสริมการค้าขายไปข้างหน้า ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน
"ตอน นี้แค่กำลังศึกษาว่าจะปรับปรุงกฎหมายอย่างไร ยังไม่ได้มีการแก้ไขตามที่นักลงทุนต่างชาติกังวล ทางกรมจะทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อทำการชี้แจงต่อนักลงทุนประเทศต่าง ๆอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง" น.ส.ผ่องพรรณกล่าวและว่าใน การพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กรมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 3 ครั้ง ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2557 ซึ่งได้กำหนดประเด็นที่เห็นควรจะให้มีการปรับปรุง เช่น 1) เสนอให้ปรับปรุงนิยาม "คนต่างด้าว" จากกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 49 : 51 เสนอว่าควรเพิ่ม "สิทธิในการออกเสียง" และอำนาจในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยกับคำนิยามเดิม และให้เพิ่มคำนิยามใหม่ เพื่อให้ดูแลการประกอบธุรกิจได้ดีขึ้น
2) การปรับลดคุณสมบัติของต่างชาติที่ไม่เหมาะสม เช่น การย้ายสำนักงานไม่แจ้งไม่ส่งงบการเงิน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กถือว่ามีความผิดแต่ไม่ถึงกับขาดคุณสมบัติ เป็นต้น ประเด็นนี้ถือเป็นการคลายนอต เพราะหากกำหนดให้ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสม จะไม่มีสิทธิทำการค้าถึง 5 ปี
3) การทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน 4) พิจารณายกเว้นทุนขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาและพันธกรณี หมายถึง ปกติต่างด้าวที่มาลงทุนในไทยต้องนำเงินทุนขั้นต่ำเข้ามาไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ในกรณีสนธิสัญญาไมตรีของสหรัฐ หรือการทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ต่าง ๆ ได้กำหนดให้ธุรกิจต่างชาติได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนในชาติ ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำจึงผ่อนคลายโดยการยกเว้นทุนขั้นต่ำด้วย
5) การปรับลดระยะเวลาการให้บริการออกหนังสือรับรองการประกอบการธุรกิจของคน ต่างด้าว เช่น ธุรกิจที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ลดเวลาจาก 30 วัน เหลือ 14 วันและธุรกิจที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ วิสาหกิจ และ 6) แก้ไขปรับปรุงอัตราโทษสำหรับตัวแทนอำพรางในลักษณะนอมินีให้เหมาะสมเช่น โทษในส่วนของตัวแทนอำพราง เป็นการปลดล็อกคุณสมบัติให้คลายออก
การ พิจารณาทบทวนประเภทธุรกิจตามบัญชีแนบท้ายกฎหมาย ล่าสุดคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้พิจารณาให้ถอดธุรกิจบริการ 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สำนักงานผู้แทนธนาคาร ประกันชีวิต และประกันวินาศภัย ออกจากบัญชีแนบท้าย 3 (21) เนื่องจากมีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่ และเพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการประกอบธุรกิจ โดยหลังจากนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการในวันที่ 19 พ.ย. นี้ และเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป ส่วนการพิจารณาถอดธุรกิจอื่นจะออกมาอีกตามความเหมาะสม
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ