​สำรวจ"เบตง" ค้าชายแดน 4 พันล้าน-ท่องเที่ยวเริ่มฟื้น

อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมืองกลางหุบเขาปลายด้ามขวานแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี เนื้อที่ 1,328 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองยะลา 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ 1,590 กิโลเมตร



    อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมืองกลางหุบเขาปลายด้ามขวานแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี เนื้อที่ 1,328 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองยะลา 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ 1,590 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดกับรัฐเประกับรัฐเกดะห์ของมาเลเซีย ด้วยภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงจึงทำให้มีอากาศดี มีหมอกตลอดปี จึงได้รับสมญานามว่า "เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน" 

    โครงสร้างเศรษฐกิจหลักขึ้นอยู่กับยางพารา ผลไม้ การค้าชายแดน นอกจากนี้ยังมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนไม่ขาดสายทั้งชาวไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ แม้ว่าจะยังมีปัจจัยเหตุการณ์ความไม่สงบฉุดรั้งอยู่บ้างก็ตาม


เวนคืน 925 ไร่ ผุดสนามบินเบตง

    ขณะเดียวกันด้วยข้อจำกัดของระยะทางที่ห่างไกล ที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นได้ร่วมกันผลักดันให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชนในเบตงนักท่องเที่ยวและนักลงทุน 

    "สมยศ เลิศลำยอง" นายกเทศมนตรีเมืองเบตง จังหวัดยะลา เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมกำลังเสนอของบประมาณ 1,800 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างสนามบินนานาชาติเบตง ซึ่งจะดูแลโดยกรมการบินพลเรือน คาดว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันมีการเวนคืนที่ดินกว่า 925 ไร่ ในตำบลยะรม ใช้งบประมาณ 231 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างสนามบิน ซึ่งขณะนี้แผนงานคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว ผ่านการทำประชาพิจารณ์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อย ปราศจากแรงต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่

    ทั้งนี้มั่นใจว่าจะสามารถปักเสาเข็มสนามบินแห่งใหม่ได้ช่วงต้นปี2559แล้วเสร็จในปี 2562 พร้อมเปิดบ้านรับการค้า การลงทุนอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาด้านโลจิสติกส์ เพราะพื้นที่เป็นเขาสูงชันทำให้การสัญจรลำบาก ดังนั้นหากสนามบินแล้วเสร็จจะส่งผลดีต่อเบตงอย่างมหาศาล โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จะมีสายการบินบินตรงเข้ามาจากมาเลเซีย และสิงคโปร์ 

    ขณะที่แผนระยะยาวที่จะทำควบคู่กับการสร้างสนามบินคือการขุดอุโมงค์ลอดเขาในตำบลตาเนาะแมเราะ งบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อให้การคมนาคมเชื่อมโยงไปยังอำเภอเมืองยะลา และจังหวัดใกล้เคียงได้ง่าย สามารถร่นระยะทางจากเบตงไปอำเภอเมืองให้เหลือเพียง 1 ชั่วโมง 20 นาที จากเดิมที่ใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมง เพราะทางเป็นเขาสูง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการร่างแผนเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณต่อไป

    ในอนาคตหากเมืองเติบโตขึ้น มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ปัญหาขยะก็จะตามมาติดๆ เห็นได้จากขณะนี้มีขยะ 60 ตัน/วัน แนวโน้มสูงขึ้น หากการท่องเที่ยวขยายตัว ทั้งนี้ รวมถึงจำนวนประชากรแฝงทั้งไทยต่างชาติเพิ่มขึ้น

    นอกจากนั้นเทศบาลเมืองเบตงยังได้เตรียมรับมือปัญหาต่างๆที่จะตามมา หากเมืองเติบโต มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เช่น ขยะล้นเมืองที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะนี้กำลังสรรหาเอกชนเพื่อเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 


ค้าชายแดนไปได้สวย 4 พัน ล.

    ขณะที่การค้าชายแดนผ่านด่านศุลกากรเบตงก็กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว (การส่งออกสูงสุดในปี 2555 มูลค่า 5.6 พันล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2557 มีมูลค่าการค้าชายแดนประมาณ 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 3,700 ล้านบาท สินค้าที่ส่งออกสูงสุด ได้แก่ ยางพารา ไม้ยางพารา ส่วนการนำเข้ามูลค่า 300 ล้านบาท สินค้าที่นำเข้าสูงสุด ได้แก่ แอมโมเนียที่ใช้ในกระบวนการแปรรูปยางพารา ทั้งนี้ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้ามาเลเซีย ในอนาคตตั้งเป้าการค้าชายแดนเติบโตปีละ 20-30%

    นายกเล็กเมืองเบตง บอกว่า นอกจากการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวที่เติบโตแล้ว ปัจจุบันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังจะขยายตัวไปได้ดีเช่นกัน มีนักธุรกิจพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรไปแล้ว 5 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก ลูกค้าเป้าหมายคือประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเศรษฐีจากมาเลเซีย สิงคโปร์มีความต้องการที่อยู่อาศัยใช้เป็นบ้านพักตากอากาศ ส่วนด้านอุตสาหกรรม เบตงเป็นพื้นที่ไม่เหมาะกับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมหนัก หรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพราะแรงงานไม่เพียงพอ ประกอบกับพื้นที่เป็นภูเขา การขนส่งลำบาก


ท่องเที่ยวส่งสัญญาณฟื้น

    "ร.ต.ต.อุดม ลักษณะ" นายกสมาคมการท่องเที่ยวอำเภอเบตง กล่าวว่า มรสุมที่รุมเร้าธุรกิจการท่องเที่ยวเบตงมาโดยตลอด คือปัญหาความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ แต่ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากมีการวางระบบดูแลความปลอดภัยอย่างรอบด้าน เช่น กล้องวงจรปิด กำลังเจ้าหน้าที่ ประกอบกับนักท่องเที่ยวเข้าใจในสถานการณ์ว่าเบตงเป็นพื้นที่เกิดปัญหาน้อย

    สัญญาณการฟื้นตัวเห็นได้จากยอดจองห้องพักที่มีอยู่กว่า4,000ห้องในช่วงปลายปี 2557 ถึงต้นปี 2558 เริ่มปรับตัวดีขึ้น มีอัตราการจองล่วงหน้าถึง 30% ปัจจุบันนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ สัดส่วน 70% คนไทย 30% 

    "นับว่าเป็นการปรับตัวดีที่สุดในรอบ 5 ปี และแนวโน้มจากนี้ไปจะดีต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยว 2.3 แสนคน/ปี สร้างรายได้ 1,000 ล้านบาท สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตคือไม้ดอกเมืองหนาว ภูเขาสูงที่มีอากาศเย็นสบาย และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์" 

    สอดคล้องกับ "พฤกษ์ วงศ์นามโรจน์" รองผู้จัดการทั่วไป โรงแรมแกรนด์แมนดาริน อำเภอเบตง บอกว่า เริ่มเห็นสัญญาณบวกจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย สิงคโปร์บ้างแล้ว ยอดจองห้องพักเริ่มเข้ามาประมาณ 30% หลังจากการท่องเที่ยวซบเซามานานจากปัญหาความไม่สงบยืดเยื้อ ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวปลายด้ามขวานใจชื้นขึ้น

    วันนี้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของเบตงเมืองเล็กๆแนวตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซียไม่แพ้ใคร

ที่มา : www.prachachat.net

NEWS & TRENDS