​ผู้ส่งออกไทยอ่วมโดนโขกค่าเรือขนส่งหวั่น SMEs กระทบหนัก

บริษัทเดินเรือในต่างประเทศ ส่งหนังสือมายังผู้ส่งออกไทย ขอปรับค่าขนส่ง อ้างไม่เคยปรับขึ้น ขาดทุนมาตลอด เริ่มอัตราใหม่ ปี 58 สรท.หวั่นกระทบเอสเอ็มอีอย่างหนัก



    นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทเดินเรือในต่างประเทศ ได้ส่งหนังสือมายังผู้ส่งออกไทย เพื่อขอปรับขึ้นค่าภาระการขนถ่ายสินค้าหน้าท่า (เทอร์มินอลแฮนด์ลิ้งชาร์จ) ในอัตราที่สูงแบบก้าวกระโดด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 58 เป็นต้น ซึ่งสายเดินเรืออ้างว่าไม่ได้ปรับขึ้นค่าเทอร์นินอลแฮนด์ลิ้งชาร์ดในไทยมานาน ประกอบกับที่ผ่านมา สายเดินขาดทุนมาตลอด ซึ่งอัตราใหม่นี้ จะทำให้ผู้ส่งออกไทยเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากต้องมีภาระ ค่าใช้จ่ายในการส่งออกเพิ่มขึ้น 9,920 ล้านบาทต่อปี

    สำหรับอัตราการเก็บค่าใช้จ่ายใหม่ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่าย ตู้ขนาด 20 ฟุต จากอัตราเดิม 2,600 บาท เป็น 4,400 บาท หรือเพิ่มขึ้น 69.23% และตู้ขนาด 40 ฟุต จาก 3,900 บาทเป็น 6,800 บาท หรือเพิ่ม 74.36%,ค่าเอกสารในการขึ้นเงินจาก 800 บาทต่อชุด เป็น 1,200 บาทต่อชุด, ค่าปิดตู้คอนเทนเนอร์ จาก 150 บาทต่อตู้ เป็น 200 บาท, ค่ายกตู้ฯจากไม่เก็บเป็น 280 บาทต่อตู้ขนาด 20 ฟุต และ 560 บาทต่อตู้ขนาด 40 ฟุต, ค่าตรวจสอบและติดตามตู้จากไม่เก็บเป็น 200 บาทต่อตู้ เป็นต้น

    “เบื้องต้นจะมี 7 บริษัทเดินเรือ ส่งหนังสือมายังผู้ส่งออกไทย ประกอบด้วย บริษัทเอสไอทีซี จากฮ่องกง, บริษัทหยางหมิง จากไต้หวัน, บริษัทฮานจิน จากเกาหลีใต้, บริษัทโอโอซีแอล จาก ฮ่องกง, บริษัท อีเวอร์กรีน จาก ไต้หวัน, บริษัทไชน่า ชิปปิ้ง จากจีน และ บริษัทหวัน ไห จากไต้หวัน คาดว่าจะมีบริษัทเดินเรือรายใหญ่อีก 20 รายจากยุโรป และสหรัฐอเมริกา เตรียมที่จะทำหนังสือต่อผู้ส่งออกไทยในการขึ้นราคาเรือเหมือนกัน”

    นายนพพร กล่าวว่า หากไม่ดำเนินการใด ๆ ผู้ส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากอำนาจต่อการแข่งขัน และอำนาจการต่อรองน้อยกว่าผู้ส่งออกรายใหญ่ โดยต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ เบื้องต้นได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เข้ามาดูแล ช่วยเหลือ ก่อนที่จะประกาศใช้ในปีหน้า

    ทั้งนี้ แนวทางแก้ปัญหาจะมี 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน ขอให้กรมการค้าภายในใช้อำนาจ ให้เรียกประชุมสายเดินเรือเข้าประชุม เพื่อแก้ไขการปรับขึ้นค่าใช้จ่ายเดินเรือ พร้อมทั้งให้ชี้แจงที่มาของเหตุผลที่มีการปรับขึ้นราคา เพราะเหตุผลในการปรับขึ้นนั้น ผู้ประกอบการ ก็ยังงงอยู่ทั้ง ๆ ที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงมามาก หรือจากช่วงกลางปีจนถึงปัจจุบันลดลง 30-40%

    “ขณะนี้ กรมการค้าภายใน มีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการค้าที่เอากำไรเกินควร หรือกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เข้ามาดำเนินการได้ เบื้องต้นสภาฯ พอใจในราคาเดิม ที่บริษัทเรือเก็บค่าใช้จ่ายอยู่ หรือหากปรับขึ้น ก็ต้องมีเหตุมีผล และอย่างน้อย ต้องมาหารือกับผู้ส่งออกไทย ก่อนที่จะประกาศราคาค่าเรือใหม่”

    ส่วนระยะปานกลาง ให้จัดทำโครงสร้างต้นทุนขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ เพื่อให้ทราบต้นทุนที่แท้จริง และให้ทุกฝ่ายรู้ที่มา ที่ไป ของการเก็บค่าใช้จ่ายเดินเรือ พร้อมทั้งจัดทำค่าดัชนีค่าระวาง และค่าใช้จ่ายในการเดินเรือทางทะเลให้จัดเจน และระยะยาว ให้กำหนดค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ ในส่วนที่เป็นต้นทุนภายในประเทศ เป็นบริการควบคุม โดยอาศัยอำนาจตาม พรบ.ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และให้บังคับใช้ได้จริง

    ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า หาก สรท.ไม่สามารถเรียกร้องให้ปรับลดราคาลงมาได้ ผู้ส่งออกไทย จำ เป็นต้องไปฟ้องกับลูกค้าในต่างประเทศ เพื่อกดดันให้ลูกค้าต่างประเทศไปเจรจากับบริษัทสายเดินเรือ เพราะหากอัตราบริษัทเดินเรือเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สูงแบบก้าว กระโดด ผู้ส่งออกไทยจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าเช่นกัน หากไม่ขึ้นราคา ก็จะกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจไทย อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะนำเรื่องนี้ ร่วมกับคณะทำงานย่อยในคณะกรรมการ ร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อนำข้อสรุปเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) พิจารณาหาทางแก้ไขด้วย

    “อัตราการเก็บค่าเรือใหม่นั้น จะกระทบต่อการส่งออกไทย ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าขยายตัว 4% ในปี 58 แน่นอน เพราะปีหน้า ไทยต้องเผชิญกับการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ในตลาดยุโรปของไทย ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรง ในการดั๊มราคาสินค้าของประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องการขึ้นค่าเรือในอัตราใหม่แบบก้าวกระโดด และอื่นๆ อีกมากมายก็จะกระทบต่อศักยภาพการส่งออกไทยแน่นอน”

 

NEWS & TRENDS