รัฐเอกชนเร่งผลักดันเด็กไทยหันเรียนอาชีวะหลังคาดปี 60 แรงงาน 6.8 แสนคน

ห่วงแรงงานขาดแคลนหนักคาดปี 60 ต้องการเพิ่มเฉียด 7 แสนคน เร่งหารือรัฐเอกชนผลักดันเด็กเข้าเรียนอาชีวศึกษา หลังค่านิยมไทยมุ่งเรียนสายสามัญเป็นหลัก



    ห่วงแรงงานขาดแคลนหนักคาดปี 60 ต้องการเพิ่มเฉียด 7 แสนคน เร่งหารือรัฐเอกชนผลักดันเด็กเข้าเรียนอาชีวศึกษา หลังค่านิยมไทยมุ่งเรียนสายสามัญเป็นหลัก

    ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เป็นประธาน ว่า ภาคเอกชนที่มาร่วมประชุมได้นำเสนอตัวเลขความต้องการแรงงาน ซึ่งพบว่า ภาคอุตสาหกรรมและบริการต้องการแรงงานเพิ่มอีกหลายแสนคน แต่กำลังการผลิตกำลังคนสายอาชีพทั้งของรัฐและเอกชนยังห่างไกลจากความต้องการดังกล่าว โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ระบุว่า ภายในปี 2560 กลุ่มอุตสาหกรรม 14 สาขา ต้องการแรงงานเพิ่มอีก 6.8 แสนคน แต่วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนผลิตกำลังคนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)ในสาขาได้กล่าวได้แค่ปีละ 3.5 หมื่นคน

    "ขณะที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการโรงแรมระบุว่า ต้องการแรงงานเพิ่มปีละ 2 แสนคน แต่มีกำลังการผลิตแค่ปีละประมาณ 1,500 คน ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศเป็นปีละ 3.5 ล้านคัน จากกำลังการผลิตในปัจจุบัน 2 ล้านคัน ส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนต้องการกำลังคนเพิ่ม1.3 แสนคนเป็นอย่างน้อยภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้กำลังคนในภาคยานยนต์เพิ่มเป็น 8 แสนคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.7 แสนคน ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตรถยนต์ตามเป้า"ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว

    ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)จะศึกษาความต้องการกำลังคนของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมให้ละเอียด และคงต้องมีการวางแผนร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสอศ. เพื่อหาทางผลิตกำลังคนให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถเพิ่มการผลิตกำลังคนให้เพียงพอความต้องการได้ทันที และจำเป็นต้องดึงภาคเอกชนมาร่วมมือด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ไปทำการบ้านในเรื่องนี้ และมานำเสนอในอีก 3 เดือนข้างหน้า

    "นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้หารือด้วยว่า ต่อไปการกำหนดอัตราเงินเดือนของภาคเอกชน จะไม่ได้ยึดตามวุฒิการศึกษาเท่านั้น แต่จะพิจารณาจากการรับรองทักษะฝีมืออื่น ๆ เช่น มาตราฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กรอบคุณวุฒิวิชาชีพ MRA หรือข้อตกลงแรงงานของอาเซียน เพราะฉะนั้น สอศ.จะต้องนำสเปคการรับรองทักษะฝีมือแต่ละประเภทมาใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรด้วย"ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว

    ด้านพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับภาคเอกชนในการร่วมมือผลิตและพัฒนากำลังคน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาครูด้วย โดยได้ทำความเข้าใจกับภาคเอกชนว่า ภาคเอกชนจะได้ประโยชน์เต็ม ๆ จากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น จึงขอให้ภาคเอกชนให้ความร่วมมือกับศธ.ในการเพิ่มและพัฒนาการผลิตกำลังคน โดยเฉพาะได้ขอให้ภาคเอกชนช่วยประชาสัมพันธ์ต่อสังคม เด็ก ผู้ปกครอง ให้เปลี่ยนค่านิยมเกี่ยวกับการเรียนต่อสายอาชีพเพื่อดึงดูดให้เด็กมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น ซึ่งหากภาคเอกชนร่วมมือกับภาครัฐในการรณรงค์แล้วเชื่อว่าจะได้ผลมากขึ้น

NEWS & TRENDS