​EXIM Bank ออก 5 ผลิตภัณฑ์กระตุ้น SMEs ส่งออก

EXIM Bank ออก 5 ผลิตภัณฑ์กระตุ้น SMEs ส่งออก ทั้งค้าชายแดน เงินหมุนเวียนระยะสั้น กู้สูงสุด 30 ล้าน ผ่อนนาน 7 ปี




    EXIM Bank ออก 5 ผลิตภัณฑ์กระตุ้น SMEs ส่งออก ทั้งค้าชายแดน เงินหมุนเวียนระยะสั้น กู้สูงสุด 30 ล้าน ผ่อนนาน 7 ปี 

    นายสุธนัย ประเสริฐสรรพ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกละนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ธุรกิจของเอ็กซิมแบงก์ จะมี 2 ส่วนหลัก คือ สินเชื่อและรับประกัน ซึ่งปีที่ผ่านมาแบงก์มีการสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการไทยทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 149,939 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4,476 ล้านบาท จากปี 2556 ยอดสินเชื่อคงค้างมีจำนวน 73,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิจากปีก่อนหน้า 5,641 ล้านบาท หรือ 8.35% 

    ส่วนการรับประกันทำให้เกิดปริมาณธุรกิจส่งออกและลงทุนรวม 86,395 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ 11.46% เป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs และยอดรับประกันคงค้าง ณ สิ้นปี 2557 อยู่ที่ 21,496 ล้านบาท

    สำหรับปี 2558 รักษาการเอ็มดีเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า ได้ตั้งเป้าหมายการรับประกันการส่งออกเติบโต 3-5% สอดคล้องกับการขยายตัวส่งออกที่มีการคาดการณ์โต 1.5-4% ส่วนสินเชื่อใหม่ตั้งเป้าโต 5% แต่ระหว่างปีนี้ จะมีลูกค้ารายใหญ่ครบดีลชำระ 3,000-4,000 ล้านบาท จึงทำให้ ณ สิ้นปีนี้ ยอดสินเชื่อคงค้างน่าจะอยู่ที่ 7.3 หมื่นล้านบาท เท่า ๆ กับปี 2557 ส่วนระดับกำไรสุทธิจะรักษาไว้ที่ 1,500 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

    โดยธนาคารมี 5 โครงการผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้บริการ ได้แก่ 1) สินเชื่อ SMEs ส่งออกสบายใจ ผู้ประกอบการใช้หมุนเวียนระยะสั้น และสามารถเลือกรับการคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อในต่างประเทศได้ในอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายที่พิเศษกว่าปกติ และได้รับอนุมัติวงเงินสูงถึง 6 เท่าของหลักประกัน 

    2) สินเชื่อ SMEs ค้าชายแดน เป็นวงเงินกู้ 1-2 ปี สูงสุด 10 ล้านบาท สำหรับผู้ที่ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน

    3) สินเชื่อ SMEs ขยายฐาน เป็นเงินกู้ระยะยาวได้ทั้งสกุลเงินบาทและสกุลเงินอื่น ให้วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท ผ่อนชำระนาน 7 ปี สำหรับนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทยหรือต่างประเทศที่ทำธุรกิจไม่น้อยกว่า 3 ปี

    4) สินเชื่อเพื่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเงินกู้ระยะยาวสูงสุด 15 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม และจังหวัดชายแดน 

    5) สินเชื่อเพิ่มพลังผู้ซื้อผู้ขาย ที่จัดให้แก่ผู้ส่งออกไทยเสนอให้แก่ผู้ซื้อในเออีซี


    สำหรับในปี 2557 ที่ผ่านมา หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของเอ็กซิมแบงก์เพิ่มขึ้น 1,144 ล้านบาท เป็น 4,086 ล้านบาท คิดเป็น 5.58% ของสินเชื่อรวม จากปี 2556 ที่อยู่ 2,942 ล้านบาท คิดเป็น 4.36% ของสินเชื่อรวม หรือเพิ่มขึ้น 1.23% เนื่องจากมีลูกค้ารายใหญ่ในธุรกิจพลังงานทางเลือกที่มีมูลค่าหนี้สูงกลายเป็น NPL ในช่วงปลายปี ซึ่งต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วและจะกลับมาเป็นหนี้ดีในปีนี้

    ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาธนาคารยังมีกำไรสุทธิ 1,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% หรือ 200 ล้านบาท จากปี 2556 ที่มีกำไร 1,316 ล้านบาท ซึ่งหากนับรวมที่มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญอีก 1,023 ล้านบาท จะเห็นได้ว่า จริง ๆ แล้วธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานถึง 2,539 ล้านบาท ขณะที่ ณ สิ้นปี 2557 ธนาคารได้สำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้ที่ 4,727 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 116% ต่อ NPL 

    "จริงๆ ในปีที่ผ่านมา เราควบคุมคุณภาพหนี้ค่อนข้างดีมาก NPL จากรายย่อยมีแค่นิดหน่อย แต่โชคไม่ดีที่ครั้งนี้มีรายใหญ่ที่มีมูลค่าหนี้สูง เงินต้นประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งติดปัญหาก่อสร้างไม่เสร็จตามเวลา ทำให้ไม่สามารถชำระเงินได้ตามกำหนด จึงทำให้ NPL สะวิงขึ้นมา"

    

NEWS & TRENDS