"ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล" ที่ปรึกษาสถาบันประชากรสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยงานวิจัยพื้นฐานเรื่อง "ประชากรและการพัฒนาในประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
"ศ.เกียรติคุณ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล" ที่ปรึกษาสถาบันประชากรสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยงานวิจัยพื้นฐานเรื่อง "ประชากรและการพัฒนาในประเทศไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ระหว่างการสัมมนาวิชาการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งจัดโดยหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประชากรศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)
จากการวิจัยพบว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีอัตราการเกิดและการตายลดลงอันเนื่องจากการมีสุขภาวะที่ดีขึ้น โดยในปี 2593 ไทยจะเป็น "สังคมสูงวัย" อย่างแท้จริง ประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 16.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 27.9 และมีสัดส่วนของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2.7 ล้านคน และมีอายุยืนยาวกว่า
ทั้งนี้ ประชากรมากกว่า 1.7 ล้านคนจะอยู่ในภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น ขณะที่อัตราของเด็กเกิดใหม่มีเพียง 1.3 ส่วนขนาดของครอบครัวจะเล็กลงเฉลี่ยประมาณ 2 คน/ครัวเรือน และคนจะอยู่คนเดียวมากขึ้น โดยมีแนวโน้มที่จะออกไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างจังหวัดมากขึ้นด้วย
นอกจากนั้น ในระยะเวลา 35 ปี ระหว่างปี 2558-2593 จะมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และวัยทำงานจะลดลงอย่างมาก โดยจะมีประชาชนวัยทำงานจำนวน 43 ล้านคนในปี 2558 และลดลงเหลือ 32 ล้านคนในปี 2593
"ข้อเสนอแนะคือ จะต้องเพิ่มผลิตภาพทั้งด้านคุณภาพของแรงงาน รวมถึงยกระดับเทคโนโลยีและเครื่องกลต่าง ๆ รักษาแรงงานสูงวัยให้อยู่นาน ๆ โดยขยายอายุเกษียณและลด "วยาคติ" หรือการไม่มีอคติกับคนสูงวัย รวมถึงเพิ่มแรงงานต่างด้าวที่จำเป็น"
ที่มา ประชาชาติ