​เดือนมกราคมยอดส่งออกตลาดหลักติดลบระนาว

ส่งออกไทยประเดิมเดือนแรก ตลาดส่งออกหลักติดลบระนาวทั้งญี่ปุ่น ยุโรป จีน อาเซียน ส่งผลมูลค่าส่งออกเดือนมกราคมติดลบ 3.46%



    ส่งออกไทยประเดิมเดือนแรก ตลาดส่งออกหลักติดลบระนาวทั้งญี่ปุ่น ยุโรป จีน อาเซียน ส่งผลมูลค่าส่งออกเดือนมกราคมติดลบ 3.46%

    นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเดือน ม.ค. 2558 มีมูลค่า 1.72 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 3.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวข้องน้ำมันดิบ เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มีราคาปรับลดลง รวมทั้งราคาส่งออกสินค้าเกษตรยังคงทรงตัว ทำให้มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลง ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1.77 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 13.33% ส่งผลให้ดุลการค้ากลับมาขาดดุลรวม 457 ล้านเหรียญสหรัฐ

    ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ติดลบ 13% เป็นผลจากการหดตัวในสินค้ายางพาราติดลบ 40.6% ข้าวติดลบ 13% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังติดลบ 12.1% อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูปติดลบ 9.7% โดยสินค้ายางพาราติดลบในระดับสูง เพราะผลผลิตยางพาราในตลาดโลกมีมาก และความต้องการยางพาราในโลกยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของไทยได้ชะลอการนำเข้า เนื่องจากปริมารสต๊อกยางพาราอยู่ในระดับสูง

    ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ดีเติบโต 0.6% โดยสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเคอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่การส่งออกติดลบ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก ตามราคาส่งออกที่ปรับตัวลดลง

    ด้านตลาดส่งออกที่สำคัญ ตลาดญี่ปุ่นยังคงหดตัว 7.5% และสหภาพยุโรปหดตัว 5% เนื่องจากเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายส่งผลให้ค่าเงินเยน และยูโร อ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท ทำให้ยอดคำสั่งซื้อชะลอตัว ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกาขยายตัว 6% เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวดี ส่งผลการบริโภคสินค้าคงทนและการลงทุนจากภาคเอกชนขยายตัว

    การส่งออกไปตลาดจีน ติดลบ 19.7% และตลาดอาเซียนติดลบ 0.7% เนื่องจากการส่งออกยางพาราที่หดตัวต่อเนื่อง และจีนใช้นโยบายพึ่งพาสินค้าภายในประเทศ ส่วนตลาดอาเซียน อินโดนีเซียติดลบ 11.2% เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการกีดกันทางการค้าสูง มาเลเซียติดลบ 12.5% เพราะการส่งออกสินค้าในกลุ่มยานยนต์ เครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก และเม็กพลาสติกลดลง ส่วนตลาดกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) ยังขยายตัวได้ 6.8%

    นางจันทิรา กล่าวว่า ในวันที่ 11-16 มี.ค. 2558 จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อทบทวนสถานการณ์ตลาด และปรับยุทธศาสตร์การส่งออก อย่างไรก็ตามเป้าหมายการส่งออกยังคงยืนตามเดิมที่ 4% ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงขอให้ค่าเงินคงที่ มีเสถียรภาพ เพราะสินค้าไทยแข่งขันด้วยคุณภาพ ไม่ใช่ราคา ส่วนสินค้าที่น่ากังวลได้แก่ สินค้าที่อ้างอิงราคาน้ำมัน เพราะเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้

NEWS & TRENDS