​รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้าฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ม.ค. ทรุด

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯม.ค.ลดลงเหลือ 91.1 ครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เหตุงบกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ



    ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯม.ค.ลดลงเหลือ 91.1 ครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เหตุงบกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

    นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 2558 อยู่ที่ระดับ 91.1 ลดลงจากเดือน ธ.ค. 2557 อยู่ที่ระดับ 92.7 ซึ่งนับเป็นการลดลงครั้งแรกหลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดไตรมาส 4/2557 เนื่องจากปัจจัยลบจากความกังวลเรื่องกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะกำลังซื้อภาคเกษตรที่ลดลงตามราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

    นอกจากนี้ ภาครัฐยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน โดยเห็นว่าถ้าภาครัฐมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้จ่ายได้จริง ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะโครงการเก่าหลายโครงการถูกระงับไปแล้ว 

    ดังนั้น ถ้ามีแต่ชะลอโครงการเก่าแล้ว ไม่เกิดโครงการใหม่ๆ สุดท้ายก็ไม่เกิดการลงทุน รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังมีความผันผวน แนวโน้มเงินบาทยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออกไทยด้วย สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์อนาคต 3 เดือนข้างหน้า พบว่าลดลงเหลือ 100.4 จากเดือนธ.ค.2557 คาดไว้อยู่ที่ 101.7

    “ผู้ประกอบการอยากให้รัฐบาลปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ประกอบกับภาคเอกชนยังเห็นว่าปัจจุบันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ยังไม่เกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจชัดเจนนัก จึงอยากให้ภาครัฐดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้” นายสุพันธุ์ กล่าว

    ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ เร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) รวมถึงเร่งส่งเสริมและ สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการใช้นวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสร้างมูลค่าสินค้าด้วย

    ในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการที่มีการส่งออกเป็นหลักตั้งแต่ 50% ของยอดขายขึ้นไป หรือเน้นตลาดส่งออก มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 105.2 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 93.7 เป็นสัญญาณที่ดีที่ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

    ขณะที่ กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่า 50% ของยอดขาย หรือเน้นตลาดในประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯอยู่ที่ระดับ 88.6 ปรับตัวลดลงจาก 92.5 ในเดือนธ.ค. องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยา, อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

 ที่มา www.bangkokbiznews.com

NEWS & TRENDS