SMEs ญี่ปุ่นขอไทยขอผ่อนปรนนำเข้าเครื่องจักรอายุเกิน 5 ปี

ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของญี่ปุ่นได้ส่งจดหมายเข้ามาผ่านทางหอการค้าญี่ปุ่น โดยขอให้ไทยผ่อนปรนเงื่อนไขเรื่องการนำเข้าเครื่องจักรของ SMEs ที่มีอายุเกินกว่า 5 ปีได้



    นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังการประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุน (BOI) ฉบับใหม่ มีผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของญี่ปุ่นได้ส่งจดหมายเข้ามาผ่านทางหอการค้าญี่ปุ่น โดยขอให้ไทยผ่อนปรนเงื่อนไขเรื่องการนำเข้าเครื่องจักรของ SMEs ซึ่งยุทธศาสตร์ใหม่กำหนดให้สามารถนำเข้าเครื่องจักรอายุไม่เกิน 5 ปี และเสียภาษีนำเข้าเครื่องจักรที่ 5% โดยนักลงทุน SMEs ญี่ปุ่นต้องการให้บีโอไอผ่อนปรนการนำเข้าเครื่องจักรที่มีอายุเกินกว่า 5 ปีได้

    ทั้งนี้ คาดว่าบีโอไอจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2-3 เดือนเพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าวให้ แต่จะต้องมีหน่วยงานเข้ามารองรับประสิทธิภาพของเครื่องจักรว่ายังใช้งานได้ดี ซึ่งจะเป็นหน่วยงานของทางญี่ปุ่นหรือทางไทยก็ได้ เกณฑ์ของเครื่องจักรดังกล่าวหากใช้กับนักลงทุนญี่ปุ่นต้องใช้เกณฑ์นี้กับนักลงทุนประเทศอื่นด้วยเพื่อไม่ให้เป็น2 มาตรฐาน 

    "หากนักลงทุนญี่ปุ่นทั้ง SMEs และรายใหญ่ ไม่สามารถนำเข้าเครื่องจักรเก่าได้ ต้องลงทุนใหม่ ถือเป็นต้นทุนที่สูงเกินไป จะทำให้เป้าหมายการดึงดูด SMEs ญี่ปุ่นประมาณ 500 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เครื่องมือการเกษตร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานเข้ามาลงทุนในไทยไม่ได้ตามเป้า"

    แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่าการผ่อนปรนทำได้แต่ต้องมีกรอบเวลา และต้องดูถึงผลที่จะตามมาเรื่องสิ่งแวดล้อมคุ้มค่าหรือไม่ เช่น หากบีโอไอผ่อนปรนบางเกณฑ์ให้ญี่ปุ่นได้ นักลงทุนประเทศอื่นจะคิดอย่างไร เหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น นักลงทุนคนอื่นจะแห่เข้ามาขอเช่นกัน 

    "เราต้องมาดูว่าอะไรที่เขาอยากได้ เราต้องยอมทุกเรื่องเลยหรือไม่ เราต้องแข็งบ้างแม้จะอ้างว่าเราต้องการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามามาก ๆ ก็ตาม แต่ในมุมมองคิดว่าหากต้องผ่อนปรนกันจริง ๆ เพื่อให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย ควรต้องผ่อนเป็นขั้นตอนทีละเล็กน้อย ไม่ใช่ขออะไรมาก็กระโดดข้ามขั้นให้เลย"

    นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากที่เดินทางไปญี่ปุ่นได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) กับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้ไทยเข้าไปลงทุนหรือร่วมทุนมากขึ้น เพราะเห็นศักยภาพของนักลงทุนไทย ซึ่งปัจจุบันมีการเข้าไปลงทุนในประเภท

    เรียลเอสเตตและธุรกิจอาหารแล้ว ส่วนกรณีที่เอสเอ็มอีญี่ปุ่นขอผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์นั้น ส.อ.ท.มองว่ารัฐบาลไทยควรเปิดช่องว่างให้นักลงทุนญี่ปุ่น แต่นักลงทุนต้องรวมตัวกันมาหลาย ๆ ราย แล้วยื่นขอเงื่อนไขที่ต้องการผ่อนปรน แต่ไม่ควรรับพิจารณาเป็นรายบริษัท โดยบีโอไอควรออกเป็นออปชั่นให้เลือก แต่มีกรอบเวลาเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น

    นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะผ่อนปรนเงื่อนไขที่นักลงทุนญี่ปุ่นขอมาได้หรือไม่ เพราะสิทธิประโยชน์ใหม่จะทำให้ต้องลดการส่งเสริมลงจาก 243 กิจการ เหลือประมาณ 100 กิจการ โดยตัดกิจการที่ไม่จำเป็น เช่น กิจการที่ใช้แรงงานจำนวนมาก รวมทั้งใช้เกณฑ์ประเภทกิจการแทนการส่งเสริมตามเขตพื้นที่ พร้อมทั้งส่งเสริมกิจการที่เกิดการวิจัยพัฒนาในประเทศจริง ๆ ทั้งนี้ นักลงทุนที่ขอเข้ามาไม่ได้ระบุมาว่าอุตสาหกรรมไหนที่ต้องการผ่อนปรนเงื่อนไขมากที่สุด แต่ขอมาแบบรวมเป็นภาพใหญ่ ไม่ได้แยกกลุ่มกันมา คาดว่าภายในไม่เกิน 2 เดือนจะพิจารณาเสร็จ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

NEWS & TRENDS