พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดทางอาญา) ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณ..
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดทางอาญา) ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า เนื่องจากบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรมีเนื้อหาที่ไม่สอดรับกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสร้างความไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับสภาพบังคับทางกฎหมาย นอกจากนี้บทบัญญัติบางมาตรายังขาดความชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมและการใช้บังคับจึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลรัษฎากร ดังนี้ 1. มาตรา 69 บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมด้วยบัญชีงบดุล บัญชีทำการ บัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับ รายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย ที่มีผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามมาตรา 3 สัตต ทำการตรวจสอบและรับรอง แต่ไม่มีบทบัญญัติใดในประมวลรัษฎากรกำหนดมาตรการบังคับสำหรับการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว จึงทำให้มาตรา 69 ขาดสภาพบังคับในทางกฎหมาย จึงแก้ไขเพิ่มเติมกรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 69 โดยการฝ่าฝืนหน้าที่ในการแนบเอกสารพร้อมการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ต้องระวางโทษปรับ
2. มาตรา 37 ทวิ บัญญัติให้ผู้ใดเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี อากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งมีบทลงโทษที่น้อยกว่าบทกำหนดโทษกรณีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามบท บัญญัติในมาตรา 37 ทำให้สภาพบังคับทางกฎหมายของบทบัญญัติทั้งสองนี้มีความแตกต่างกันมาก ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับบทลงโทษทางอาญา จึงแก้ไขเพิ่มเติมให้การกระทำอันเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามมาตรา 37 ทวิ มีอัตราโทษเดียวกับมาตรา 37 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท โดยยกเลิกมาตรา 37 ทวิ
3. มาตรา 90/4 (6) บัญญัติให้บทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใด ๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ซึ่งคำว่า “เจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม” เป็นถ้อยคำที่อาจให้ความหมายได้อย่างกว้างขวางและไม่ครอบคลุมถึงความผิดสำหรับการทุจริตในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นเท็จ จึงแก้ไขเพิ่มเติมให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามมาตรา 37 ให้ครอบคลุมถึงการขอคืนภาษีอากรอันเป็นเท็จ และ 4. แก้ไขเพิ่มเติมให้บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครอบคลุมถึงการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ