​สสว.ปลุก SMEs เร่งเสริมศักยภาพคว้าโอกาสยุค‘ดิจิทัล อีโคโนมี’ บูม

ชี้เทรนด์ธุรกิจทั่วโลกมุ่งใช้ดิจิทัลเสริมแกร่งธุรกิจ แจงประโยชน์มหาศาล ทั้งขยายตลาด ลดต้นทุน และสร้างเครือข่ายธุรกิจ กระตุ้นเอสเอ็มอีไทยต้องเร่งปรับตัว พัฒนาขีดความสามารถ เพื่อใช้ประโยชน์จากโลกยุคไอทีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 


 
    ชี้เทรนด์ธุรกิจทั่วโลกมุ่งใช้ดิจิทัลเสริมแกร่งธุรกิจ แจงประโยชน์มหาศาล ทั้งขยายตลาด ลดต้นทุน และสร้างเครือข่ายธุรกิจ กระตุ้นเอสเอ็มอีไทยต้องเร่งปรับตัว พัฒนาขีดความสามารถ เพื่อใช้ประโยชน์จากโลกยุคไอทีให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
 
    ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวในงานสัมมนา “ส่องเทรนด์ทำธุรกิจออนไลน์ให้รุ่งในยุคดิจิทัล อีโคโนมี” ว่า เทรนด์การค้าของโลกในปัจจุบัน มุ่งตรงไปสู่การใช้ดิจิทัล เพื่อช่วยเสริมศักยภาพทางธุรกิจทุกๆ ด้าน  ไม่ว่าจะเป็นการขยายช่องทางตลาด เพิ่มมูลค่าธุรกิจ เสริมความแข็งแกร่ง หรือลดต้นทุนทางธุรกิจ  
 
    ทั้งนี้ ในส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี สามารถหาโอกาสทางธุรกิจได้จากโลกออนไลน์ ไม่จำกัดเฉพาะแค่เรื่องการทำตลาด ซึ่งปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว หากแต่สามารถนำดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ เช่น เข้าไปแสวงหาความรู้ หาพันธมิตรหรือสร้างเครือข่ายธุรกิจ เชื่อมธุรกิจกับคู่ค้าซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงนำเสนอสินค้าของตัวเองไปสู่ตลาดระดับโลก
 
    อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ดิจิทัล อีโคโนมี เป็นเสมือนเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่เหนือกว่าคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องรู้จักเรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง เพื่อใช้ดิจิทัล อีโคโนมี ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมการเจรจาการค้าผ่านออนไลน์ของต่างชาติ จะให้คำตอบเบ็ดเสร็จภายในเวลาไม่กี่นาที แต่สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยหลายราย แม้จะมีช่องทางค้าออนไลน์ก็ตาม แต่ยังใช้ไม่เต็มที่ โดยบางรายใช้เวลานานนับสัปดาห์กว่าจะตอบอีเมลล์ลูกค้าต่างชาติ จึงทำให้เสียโอกาสธุรกิจ และยังแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพต่อการค้าระดับสากล นอกจากนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยยังมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาต่างประเทศ เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ต้องเร่งเรียนรู้และปรับตัว เพื่อใช้ประโยชน์จากดิจิทัล อีโคโนมี ได้อย่างแท้จริง
 
    “ดิจิทัล เป็นเสมือนเครื่องมือที่จะพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไปทั่วโลกได้ ไม่ว่าจะอยู่ในดินแดนใดของโลกก็ตาม สินค้าของคุณมีโอกาสจะไปปรากฏต่อสายตาของทุกคนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่เหนือกว่าเครื่องมือคือ การที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากดิจิทัล อีโคโนมี” รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว. กล่าว
 
     ในส่วนภาครัฐต่อการส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้ใช้ประโยชน์จากดิจิทัล อีโคโนมี นั้น ด้านแรกเน้นวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเชื่อมต่อการใช้ไอทีให้สะดวกและทั่วถึงที่สุด โดยเฉพาะการขยายสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศเร็วๆ นี้ ขณะที่อีกด้าน ส่งเสริมความรู้ พัฒนาขีดความสามารถ และสร้างความเชื่อมั่นต่อการค้าทางออนไลน์ ผ่านมาตรฐานการสนับสนุนต่างๆ  
 
    ในงานดังกล่าวยังมีการเสวนาหัวข้อ "ตัวจริงเอสเอ็มอีสำเร็จได้ด้วยออนไลน์" โดยตัวแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจโดยใช้สื่อออนไลน์มาถ่ายทอดประสบการณ์  โดย สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ  เจ้าของธุรกิจ “เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery”  เผยว่า สิ่งสำคัญของการใช้สื่อออนไลน์ในการทำธุรกิจของเจคิวฯ มีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ 1.การเพิ่มการรู้จักแบรนด์ 2.การเพิ่มยอดขายให้ได้สูงสุด และ 3.การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ในด้านการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและขยายฐานลูกค้า
 
    ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่ใช้แล้วได้ผลอย่างดียิ่งคือ การทำกิจกรรมโปรโมชันกับลูกค้าในแฟนเพจ ช่วยทั้งสร้างสัมพันธ์และดึงดูดลูกค้า รวมถึงยังเป็นการขอบคุณลูกค้าที่ให้การสนับสนุนไปในตัวด้วย อย่างไรก็ตาม ฝากเตือนผู้สนใจจะทำตลาดออนไลน์ ต้องระวังเรื่องการรักษาชื่อเสียง เพราะในโลกออนไลน์สามารถจะทำให้ธุรกิจแจ้งเกิดหรือดับได้ในเวลาอันรวดเร็ว
 
    ด้าน ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ผู้ก่อตั้งก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม้ง และ SOdA PrintingG.com กล่าวว่า เอสเอ็มอีสามารถสร้างเทรนด์ของตัวเองในโลกออนไลน์ให้ลูกค้าต้องมาตามได้เช่นกัน ด้วยการโพสต์ภาพสินค้า หรือบริการตัวเองให้มีเอกลักษณ์ แล้วทำบ่อยๆ ซ้ำๆ  จนเกิดพฤติกรรมที่ลูกค้าจดจำสินค้าหรือบริการได้ ส่วนการใช้ข้อมูลในโลกออนไลน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องสกัดให้เหลือข้อมูล “จริง” มากที่สุด เพราะจะช่วยกำหนดทิศทางธุรกิจได้ถูกต้อง
 
    ขณะที่ รวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผงหอมศรีจันทร์ จำกัด เผยว่า บริษัทได้นำสื่อออนไลน์ มาใช้รีแบรนด์ “ผงหอมศรีจันทร์” จากเครื่องสำอางโบราณล้าสมัยมาสู่แบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่ ทั้งโปรโมตผ่านเว็บไซต์ และสังคมออนไลน์ต่างๆ มีทีมงานโดยเฉพาะแจ้งข่าวสารต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมาอัดงบโฆษณาในสื่อออนไลน์มากถึง 25% ของงบประมาณทำตลาดทั้งหมด
 
    นอกจากนั้น ในช่วงท้ายยังมีการให้ความรู้ทำตลาดออนไลน์  หัวข้อ “กลยุทธ์เพิ่มยอดขายด้วยโซเชียลมีเดีย”  โดยวิทยากร ได้แก่ ลินดา หวังวานิช  ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย Prepaid - Special Segment บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค   ทรงยศ คันธมานนท์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร      บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด  และ พรทิพย์ กองชุน อดีตหัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย 


NEWS & TRENDS