กสอ. เผยกลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรองรับฐานผู้บริโภคที่ใหญ่ขึ้นเป็นกว่า 600 ล้านคนทั่วอาเซียน ด้วยการดำเนินงานใน 3 โครงการหลัก

กสอ. เผยกลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรองรับฐานผู้บริโภคที่ใหญ่ขึ้นเป็นกว่า 600 ล้านคนทั่วอาเซียน ด้วยการดำเนินงานใน 3 โครงการหลัก
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 นี้ ภาคอุตสาหกรรมจำต้องปรับตัวและเร่งสร้างความพร้อมอย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่จะแข่งขัน ใน AEC ได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมไทย ที่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมตัวให้มีความพร้อมเพื่อสามารถแข่งขันในตลาดที่ใหญ่ขึ้นจากตลาดภายในประเทศที่มีฐานผู้บริโภค 65 ล้านคน สู่ระดับอาเซียนที่ผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคน
สำหรับอุตสาหกรรมไทยที่มีความโดดเด่นและมีทิศทางในการขยายตลาดได้ดีที่สามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงสิ้นปี 2558 ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออกไปประเทศอาเซียนประมาณ 1,146.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าการส่งออก 1,610.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีการพัฒนามายาวนาน มีทักษะความชำนาญ และมีซัพพลายเชนที่ครบวงจร หากสามารถส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีศักยภาพได้ก็จะสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ
ทั้งนี้ ในการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการทั้งรายใหม่และรายเดิม กสอ ได้กำหนด 3 โครงการเร่งด่วน ได้แก่ (1) โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC (2) โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่การเป็นมหานครแฟชั่นอาเซียน และ (3) โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการดำเนินงานตามทั้ง 3 โครงการเร่งด่วนดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กสอ. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการส่งเสริมพัฒนา SMEs และ OTOP เป็นหน่วยงานปฏิบัติ ดร.อรรชกา กล่าว
นอกจากโครงการทั้ง 3 แล้ว กสอ.ยังดำเนินโครงการและกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาอื่น ๆ กว่า 70 โครงการ/กิจการ สอดรับกับความหลากหลายของอุตสาหกรรม แก้ปัญหาที่ตรงจุด ดังนั้นโครงการต่าง ๆ จึงกำหนดมาในหลากหลายบริบทให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการที่แตกต่างกัน มีการปรับปรุงรูปแบบกระบวนการส่งเสริม ปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องการตลาด กฎระเบียบใน AEC Digital SMEs เป็นต้น พร้อมทั้งสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ ให้เกิดเครือข่ายใหม่เพิ่มขึ้น เช่น คลัสเตอร์เครื่องสำอาง คลัสเตอร์แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร คลัสเตอร์ OTOP และคลัสเตอร์กลุ่มหัตถศิลป์ เป็นต้น
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการได้ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4426-7 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr