LIT สบช่องดอกเบี้ยลดรุกหนักปล่อยกู้ SMEs

นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทลีซ อิท (LIT) เปิดเผยว่า แม้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้จะส่งสัญญาณชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกที่ชะลอตัว ความเชื่อมั่นการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐยังไม่เป็นไปตามเป้า..


    นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทลีซ อิท (LIT) เปิดเผยว่า แม้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้จะส่งสัญญาณชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกที่ชะลอตัว ความเชื่อมั่นการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

    ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเตรียมปรับลดประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากเดิมที่คาดว่าปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4% ทำให้ธนาคารพาณิชย์คุมเข้มปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าเอกชน เนื่องจากบริษัทบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพเห็นได้จากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ซึ่งต่ำเพียง 2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวม

    “ผมมองว่าเป็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าภาคเอกชนโดยบริษัทเพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้นซึ่งจะผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น” นายสมพลกล่าว

    ที่ผ่านมา บริษัทจะให้วงเงินสินเชื่อแฟคตอริ่งเอสเอ็มอีรายใหม่ประมาณ 100 ล้านบาท/เดือน แต่ปีนี้มีแผนเพิ่มเป็น 200 ล้านบาท เพราะความต้องการมีสูง เนื่องจากสถาบันการเงินยังไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มนี้มากนัก เนื่องจากยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ล่าสุด 2 เดือนที่ผ่านมาได้เพิ่มวงเงินให้สินเชื่อแฟคตอริ่งลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหม่ได้มากถึง 245 ล้านบาท

    “การที่กนง.ลดดอกเบี้ยช่วยให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลงเพราะในไตรมาส 2 บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้วงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อเตรียมสภาพคล่องไว้ปล่อยกู้ซึ่งมั่นใจว่าพอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้จะแตะ 1,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้” นายสมพลกล่าว

    นอกจากนี้ บริษัทยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย เช่น สินเชื่อสัญญาเช่าทางการเงิน (ลิสซิ่ง) สินเชื่อเช่าซื้อ (ไฮ-เพอร์เชส) สินเชื่อแฟคตอริ่ง หรือการรับซื้อลูกหนี้ทางการค้า และสินเชื่อประเภทเทรดและโปรเจกท์ไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อเพื่อการออกหนังสือค้ำประกันเข้าประมูลงาน ปัจจุบันได้ปรับพอร์ตลูกหนี้เพื่อรองรับการขยายตัวเชิงรุก โดยเพิ่มพอร์ตลูกหนี้ภาคเอกชนจาก 20% มาเป็น 30% ขณะที่ยังคงให้น้ำหนักลูกหนี้ภาครัฐในสัดส่วนที่สูงอยู่เป็น 70% ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มกำไรให้บริษัท

NEWS & TRENDS