ดีเอสไอเผยแชร์ลูกโซ่ยังคงระบาดหนัก ถือเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่ยังไม่แก้ไขจริง ชี้เทคโนโลยีที่ทันสมัยปัจจัยหลักเอื้อการกระทำผิดได้หลากหลายมากขึ้น
ดีเอสไอเผยแชร์ลูกโซ่ยังคงระบาดหนัก ถือเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่ยังไม่แก้ไขจริง ชี้เทคโนโลยีที่ทันสมัยปัจจัยหลักเอื้อการกระทำผิดได้หลากหลายมากขึ้น
นายวัลลภ นาคบัว รองโฆษกกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะรองโฆษกดีเอสไอ ร่วมแถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม กรณีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ หรือการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
พ.ต.ต. วรณัน กล่าวว่า กรณีดังกล่าว เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องนี้มีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยที่มีหน้าที่ปราบปราม อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ฯลฯ แต่ยังไม่ได้ทำให้ปัญหาเหล่านี้เบาบางหรือลดลง ประกอบกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยกลับเป็นช่องทางที่เอื้อให้เกิดการกระทำความผิดในรูปแบบแชร์ลูกโซ่ให้หลากหลาย และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นภัยร้ายที่กัดกร่อนทางเศรษฐกิจของสังคม และประชาชนในทุกระดับ
ทั้งนี้ จากสถิติข้อมูลด้านคดีของดีเอสไอตั้งแต่ พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน พบว่าดีเอสไอได้รับคดีแชร์ลูกโซ่เป็นคดีพิเศษแล้วกว่า 100 คดี โดยมีเรื่องที่อยู่ระหว่างการสืบสวน และตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกกว่า 43 คดี อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาจำแนกลักษณะของการกระทำความผิดอย่างกว้างๆ พบว่า แผนประทุษกรรมในการกระทำความผิดจะมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของแต่ละกลุ่มคน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ประชาชนระดับรากหญ้า ส่วนใหญ่แชร์ลูกโซ่จะถูกแฝงตัวมาในรูปแบบของการฌาปนกิจสงเคราะห์ เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ด้านพื้นฐานของชีวิตที่ประสงค์ให้ลูกหลานมีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการทำศพหลังเสียชีวิตโดยไม่ทำให้คนที่อยู่ข้างหลังเดือดร้อน ซึ่งกรณีนี้สามารถตรวจสอบว่าฌาปนกิจสงเคราะห์นั้นได้ลงทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
กลุ่มที่ 2 ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นคนระดับกลาง โดยแชร์ลูกโซ่จะมาในรูปแบบของการร่วมลงทุนในสินค้า บริการต่าง ๆ หรือธุรกิจขายตรง เช่น แชร์น้ำมันหอมระเหย แชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์พวงมาลัย แชร์ล็อตเตอรี่ เป็นต้น เนื่องจากคาดหวังในผลกำไรและเป็นการลงทุนที่ง่ายไม่ซับซ้อน สำหรับกรณีนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ที่ สคบ.
กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มผู้มีเงินทุน และความรู้ค่อนข้างสูง โดยการหลอกลวงจะพัฒนารูปแบบการลงทุนเป็นเรื่องการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ หรือการลงทุนในการซื้อขายโลหะมีค่า เช่น ทองคำ หรือหุ้น เป็นต้น เนื่องจากมีรูปแบบการลงทุนที่ถูกต้อง และมีผลตอบแทนค่อนข้างสูงให้เห็นในต่างประเทศ เมื่อกลุ่มคนร้ายนำรูปแบบการลงทุนแบบเดียวกันมาแอบแฝงในการกระทำผิด จึงหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย สำหรับกรณีเกี่ยวกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศนี้สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ที่แบงก์ชาติ
รองโฆษก ดีเอสไอ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ ดีเอสไอจะเป็นตัวกลางในการประชุมหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการที่จะจัดขึ้นในต้นเดือนเม.ย.นี้ เพื่อบูรณาการข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน และวางแนวทางป้องกันปราบปรามร่วมกันด้วย