​ทีอาร์ไอเสนอแนวทางการควบรวมธุรกิจหวั่นผูกขาดเจ้าเดียว

ทีดีอาร์ไอ มอง กฎหมายลูกเกี่ยวกับพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ยังไม่ได้ออกมาบังคับใจ หวั่นธุรกิจขนาดใหญ่ควบรวมกัน กลายเป็นอำนาจเหนือตลาด ผูกขาดการขายสินค้ากระทบผู้บริโภค



    ทีดีอาร์ไอ มอง กฎหมายลูกเกี่ยวกับพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ยังไม่ได้ออกมาบังคับใจ หวั่นธุรกิจขนาดใหญ่ควบรวมกัน กลายเป็นอำนาจเหนือตลาด ผูกขาดการขายสินค้ากระทบผู้บริโภค

    นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึง ร่างแนวปฏิบัติการรวมธุรกิจตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2542 ว่า การควบรวมธุรกิจในตลาดที่มีผู้ประกอบการน้อยราย อาจนำไปสู่การผูกขาด หรือมีแนวโน้มของการลดการแข่งขันได้ จึงต้องมีบทบัญญัติและหลักการปฏิบัติ เพื่อป้องกันการรวมธุรกิจที่อาจนำไปสู่การใช้อำนาจเหนือตลาดและใช้อำนาจในลักษณะที่ก่อให้เกิดการจำกัดการแข่งขัน ซึ่งการใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคได้

    ทั้งนี้ แม้พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2542 ได้กำหนดให้มีบทบัญญัติกฎหมายลูก หรือกฎหมายลำดับรองในมาตรา 26 ซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติการรวมธุรกิจแต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ออกบทบัญญัติดังกล่าวมาบังคับใช้ ทำให้การควบรวมกิจการขนาดใหญ่เกิดคำถามขึ้นในสังคมว่า อาจทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาดจนกระทบกับประชาชนหรือไม่ ซึ่งการออกกฎหมายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องขึ้นมา จะเป็นเครื่องมือที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าสามารถนำไปใช้พิจารณาประกอบการอนุญาตการควบรวมกิจการต่างๆ โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่จึงมีความจำเป็น

    ทีดีอาร์ไอ ได้เสนอร่างแนวปฏิบัติการรวมธุรกิจให้กับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้ พิจารณานำไปใช้ควบคุมการควบรวมกิจการ คือ เกณฑ์การขออนุญาต โดยกิจการที่เข้าข่ายต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการฯ ก่อนการควบรวมกิจการ คือ การรวมธุรกิจการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ 25% ขึ้นไปหรือกรณีที่ซื้อหุ้นบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ หรือเป็นบริษัทจำกัดให้ใช้เกณฑ์การซื้อหุ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไปต้องแจ้งต่อคณะกรรมการ

    ขณะที่การรวมธุรกิจของบริษัทแม่ที่ส่งผลให้บริษัทในเครือที่เป็นบริษัทลูกควบรวมกันโดยอัตโนมัติ ซึ่งการควบรวมกิจการด้วยวิธีการต่างๆส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็น30%ขึ้นไปและมียอดขายหรือรายได้ในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 2,000 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป ในตลาดสินค้าหรือบริการใดบริการหนึ่ง

    ส่วนการรวมกิจการที่ไม่ต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ได้แก่ การรวมธุรกิจระหว่างธุรกิจที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันทั้งแนวนอนและแนวตั้งและไม่เกี่ยวข้องกันทั้งทางตรงและทางอ้อม การรวมธุรกิจระหว่างบริษัทในกลุ่มเดียวกัน การรวมธุรกิจแบบแนวดิ่ง กรณีที่ผู้ถูกรวมธุรกิจมีส่วนแบ่งทางตลาดไม่เกิน10% และมีรายได้และยอดขายที่ผ่านมาไม่เกิน1,000ล้านบาทต่อปี และการรวมธุรกิจที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเฉพาะอยู่แล้ว เช่น กิจการที่อยู่ในการดูแลของคณะกรรมการประกันภัย (คปภ.) หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ไม่ต้องขออนุญาตการควบรวมจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเนื่องจากมีกฎหมาย และหน่วยงานดูแลอยู่แล้วผู้ประกอบการเพียงแต่แจ้งให้คณะกรรมการทราบตามขั้น ตอนเท่านั้น

    ขณะที่หลักเกณฑ์พิจารณาขอบเขตของตลาด คณะกรรมการฯ ต้องพิจารณาทั้งจากส่วนของอุปสงค์และอุปทาน พร้อมกับพิจารณาผลกระทบต่อการแข่งขัน ทั้งโครงสร้างตลาดในปัจจุบัน โครงสร้างตลาดที่อาจเกิดขึ้นหลังการรวมธุรกิจ และโอกาสที่จะเกิดผลกระทบทางลบต่อการแข่งขัน เช่น โอกาสในการฮั้วกันของธุรกิจ หรือโอกาสที่บริษัทที่ถูกควบรวมจะลดการแข่งขันในตลาด

    สุดท้ายต้องพิจารณาถึงความจำเป็น และผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภค เช่น การพิจารณาว่ากิจการที่จะควบรวมกันมีความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการ ผลิต หรือเพิ่มความสามารถการแข่งขันระยะยาวได้หรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาว่า การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันนั้นสามารถสร้างประโยชน์ต่อผู้ บริโภค เช่น คุณภาพสินค้าและบริการที่ดีขึ้น หรือทำให้ราคาลดลงหรือไม่

NEWS & TRENDS