สมาคมตราสารหนี้ชูแผนพรึ่บ วอนคลังปัดฝุ่นลดภาษี

ThaiBMA ชี้ดีมานด์ตราสารหนี้ไทยสูงเฉลี่ยปีละ 8.6 แสนล้าน ซัพพลายโตไม่ทัน เร่งปั้น"ดอลลาร์-อินฟราฯ-บาท" บอนด์ ปลุกตลาด ลุยชงคลังยกเว้นภาษี Capital Gain ให้นักลงทุน และลดภาษีธุรกิจเฉพาะให้บริษัทประกันชีวิต หวังดันตลาดรองคึก

    

    ThaiBMA ชี้ดีมานด์ตราสารหนี้ไทยสูงเฉลี่ยปีละ 8.6 แสนล้าน ซัพพลายโตไม่ทัน เร่งปั้น"ดอลลาร์-อินฟราฯ-บาท" บอนด์ ปลุกตลาด ลุยชงคลังยกเว้นภาษี Capital Gain ให้นักลงทุน และลดภาษีธุรกิจเฉพาะให้บริษัทประกันชีวิต หวังดันตลาดรองคึก

    นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการลงทุน (ดีมานด์) ในตราสารหนี้ (บอนด์) ไทยมีจำนวนมาก โดยมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 8.63 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากแล้ว 

    อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องน่าห่วงในฝั่งอุปทาน (ซัพพลาย) หรือการออกตราสารหนี้ เนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 4.9 แสนล้านบาท ซึ่งยังน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาด ดังนั้นจึงยังต้องมีการปรับปรุงพัฒนาในหลายด้านเพื่อกระตุ้นให้มีผู้เล่น ผู้ออกตราสารให้มากขึ้น และตอบรับกับความต้องการของนักลงทุนที่มีจำนวนมาก

    ดังนั้น สมาคมจึงเสนอแนวทางต่าง ๆ ต่อหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาและส่งเสริมการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ไทย ได้แก่ 1) ด้านภาษี ได้เสนอให้กรมสรรพากรพิจารณายกเว้นภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital Gain Tax) แก่บุคคลธรรมดาที่มีรายได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ โดยจะเป็นการยกเว้นภาษีเฉพาะส่วนต่างเงินต้น ส่วนรายได้จากดอกเบี้ยค้างรับยังเก็บภาษีอยู่ 

    "ข้อเสนอนี้มีวัตถุประสงค์กระตุ้นการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองเป็นสำคัญ อีกด้านก็ยังเสนอให้ลดภาษีธุรกิจเฉพาะแก่นิติบุคคลประเภทบริษัทประกันชีวิต ซึ่งปัจจุบันจ่ายที่ 2.5% ขณะที่ธุรกิจธนาคารได้รับการลดมาเป็น 0.01% แล้ว"

    2) เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้การเสนอขายตราสารหนี้เอกชนระยะยาว (หุ้นกู้) ภายใต้โปรแกรม MTN (Medium-Term Note) หรือออกเป็นคราว ๆ ไป รวมถึงอนุญาตให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ออกและเสนอขายหุ้นกู้โดยไม่ต้องนำเสนอข้อมูลใหม่ทั้งชุด

    ส่วนอีก 3 ด้าน เป็นการส่งเสริมสนับสนุนการทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ประกอบด้วย 3) การเสนอให้ผู้ออกหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศและขายให้นักลงทุนต่างประเทศกลับมาขายให้นักลงทุนไทยในกลุ่ม High Net Worth (นักลงทุนที่มีศักยภาพ) ในไทยได้ 

    4) เสนอทางเลือกการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้โครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรักเจอร์ บอนด์ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าการออกพันธบัตรทั่วไป และยังไม่นับรวมเป็นหนี้สาธารณะ 

    ส่วน 5) เสนอให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกหุ้นกู้สกุลเงินบาท (บาทบอนด์) สำหรับบริษัทไทยที่จัดตั้งหรือร่วมทุนในต่างประเทศและเป็นผลประโยชน์ของคนไทย โดยขอให้ทางการอนุญาตให้บริษัทกลุ่มนี้สามารถกลับมาออกตราสารหนี้ในประเทศไทยได้เทียบเท่ากับบริษัทที่ตั้งในประเทศไทยทำได้ เป็นต้น

    ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมระบุว่า มูลค่าคงค้างของตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นปี 2557 มีทั้งสิ้น 9.29 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีพันธบัตรรัฐบาลสัดส่วนมากที่สุด 37% หรือ 3.45 ล้านล้านบาท รองลงมาได้แก่ พันธบัตรหน่วยงานของภาครัฐ 30% (2.74 ล้านล้านบาท) หุ้นกู้ 24% (2.21 ล้านล้านบาท) และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 9-10% (7.9 แสนล้านบาท)

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

NEWS & TRENDS