โฆสิต เตือนคนไทยอย่าหวังมากเศรษฐกิจโต 3-4% ถือว่าดีแล้ว

โฆสิต” เตือนคนไทยอย่าหวังมาก ระวังจะผิดหวัง ระบุเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3-4% ได้ถือว่าดีแล้ว เพราะเศรษฐกิจเจอศึกหนัก 2 เด้ง ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลทำได้แค่พยุงเศรษฐกิจไว้ แนะเพิ่มผลิตภาพการผลิต และเพิ่มมูลค่าของสินค้า ยกระดับเศรษฐกิจไทยไปอีกขั้น มองทุกข์หนักคนไทยยังไม่ใช่วั..




    โฆสิต” เตือนคนไทยอย่าหวังมาก ระวังจะผิดหวัง ระบุเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3-4% ได้ถือว่าดีแล้ว เพราะเศรษฐกิจเจอศึกหนัก 2 เด้ง ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลทำได้แค่พยุงเศรษฐกิจไว้ แนะเพิ่มผลิตภาพการผลิต และเพิ่มมูลค่าของสินค้า ยกระดับเศรษฐกิจไทยไปอีกขั้น มองทุกข์หนักคนไทยยังไม่ใช่วันนี้ แต่อยู่ข้างหน้า แนะคนไทยเร่งออมเงินรองรับสังคมคนสูงอายุ

    นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ว่า อยู่ในภาวะการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมีปัญหาบั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งจากภายใน และภายนอกประเทศ โดยปัญหาในประเทศเกิดขึ้นจากการอุปโภคบริโภคที่ชะลอตัวลง ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่การดำเนินนโยบายประชานิยมในช่วงที่ผ่านมา ก่อให้เกิดอุปสรรคในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และเป็นการใช้กำลังซื้อของประชาชนล่วงหน้าไปแล้ว อีกส่วนปัญหาความอ่อนแอและความไม่ชัดเจนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทย ขณะเดียวกันกำลังซื้อของโลกที่ลดลงยังส่งผลให้ราคาสินค้าตกต่ำลงด้วย

    อย่างไรก็ตาม ตนยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวในระดับ 3-4% ซึ่งแม้จะเติบโตไม่ได้สูงหรือเร็วมาก แต่ก็เป็นระดับที่ใช้ได้ ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวแต่จะหวังเศรษฐกิจลื่นไหล ซื้อง่ายขายคล่องยังหวังไม่ได้ เพราะเรายังได้รับผลกระทบจากปัญหาที่ผ่านมาทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ รัฐบาลในขณะนี้ทำได้แค่พยุงสถานการณ์ ซื้อเวลาไปก่อนเพื่อรอเวลาให้เกิดการปรับตัวไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่านั้น แต่คงจะหวังมากกว่านี้ยังไม่ได้ คนไทยเองต้องทำความเข้าใจด้วย เพราะถ้าหวังมากกว่านี้จะผิดหวัง

    “บทเรียนจากโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา จะให้ทำอีกขณะนี้คงทำอีกไม่ได้แล้ว โครงการรถยนต์คันแรกก็เป็นหนี้ไปแล้ว ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท จะให้ปรับขึ้นมากๆ อีกครั้งต่อเนื่องก็คงทำไม่ได้ และในข้อเท็จจริงแล้ว จะให้ประเทศโตต่อเนื่องด้วยการใช้นโยบายประชานิยมตลอดเวลาคงไม่ใช่เรื่องที่ดี ขณะที่ตลาดต่างประเทศเองยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้เราหวังจากการส่งออกไม่ได้เช่นกัน ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้นั้น ในส่วนของงบใช้จ่ายประจำนั้น ผมเชื่อว่ารัฐบาลใช้ได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว ขณะที่งบลงทุนอาจจะยังมีปัญหาที่จะลงทุนไม่ได้เร็วนัก”

    นายโฆสิต กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำลายระบบการเตรียมการ และวางแผนโครงการลงทุนที่ถูกต้องของรัฐบาล เพราะตามปกติแล้วการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะต้องใช้เวลาตั้งแต่การศึกษาผลกระทบ ออกแบบ ศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ หาราคากลางที่เหมาะสม ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลส่วนใหญ่อยู่กันไม่ถึง 2 ปี ทำให้โครงการลงทุนของรัฐบาลแรก ศึกษา ออกแบบเสร็จ ยังไม่ได้ทำรัฐบาลก็เปลี่ยนต้องเก็บเอาไว้ คนมาใหม่ก็ศึกษาใหม่เปลี่ยนใหม่อีก ทำให้ไม่ได้ลงทุนเสียที ทำให้เราเป็นประเทศที่มีชื่อโครงการลงทุนที่จะทำมากที่สุดในโลก แต่โครงการที่ทำจริงมีน้อยมาก ส่งผลให้บางรัฐบาลที่ผ่านมา เปลี่ยนไปใช้วิธีการลงทุนแบบใหม่ คือ ให้เอกชนเสนอมาว่าอยากทำ พร้อมทำโครงการอะไรแทน ซึ่งกรณีอาจจะได้ลงทุนแต่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

    “พอถึงรัฐบาลนี้ อยากจะลงทุนโครงการขนาดใหญ่และเข้าใจด้วยว่า ต้องเร่งลงทุนให้เร็ว แต่พอไปดู ไม่มีโครงการไหนที่มีการเตรียมการไว้จนพร้อมที่จะลงทุนเลย และหากจะรอให้พร้อมจนลงทุนได้ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะ ขณะที่อาจจะมีบางโครงการที่พร้อมลงทุน เพราะมีการเตรียมการมานาน เช่น การลงทุนด้านไฟฟ้า แต่ก็ลงทุนได้ไม่มากนักเพราะความต้องการไฟฟ้าต้องเป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ”

    นายโฆสิต กล่าวด้วยว่า แนวทางการฟื้นของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ คือ การเพิ่มผลิตภาพ และเพิ่มมูลค่าของสินค้า ยกระดับของการผลิตและคุณภาพสินค้าของไทยให้ขยับขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ทั้งในส่วนของภาคเอกชนต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลต ลดค่าใช้จ่ายและสร้างสินค้าใหม่ๆที่ปราณีตขึ้น รวมทั้งภาคการเกษตร ที่จะรอการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องยกระดับตัวเองขึ้นมา ทั้งคุณภาพของสินค้าเกษตร และประสิทธิภาพการผลิต ยกตัวอย่าง ปราชญ์ชาวบ้านในหลายพื้นที่ที่มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพพิเศษที่ขายได้ในราคาสูง มีการศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ชาวนาส่วนนี้มีโครงการรับจำนำหรือไม่มี จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้

    “การหวังที่จะให้ประเทศเติบโตด้วยการบริโภคอย่างเดียว ผมไม่ได้อยู่ฝั่งนั้น เพราะผมมองว่า ทุกข์ของประเทศไทยในขณะนี้ ไม่ได้อยู่ที่บริโภคน้อยเกินไป แต่มาจากการออมที่น้อยเกินไป เพราะสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนอายุยืนมากขึ้น หากเราบริโภควันนี้ในสิ่งที่ไม่ควร เกินความจำเป็นพื้นฐานไปมาก จะทำให้อนาคตเราลำบาก ดังนั้น คนที่ดูแลนโยบายควรจะพิจารณาเรื่องนี้ด้วย บางทีเราอาจจะไม่ต้องการการโตเร็วมากๆ บริโภคมากๆ แต่กลับมาบริโภคเท่าที่จำเป็นและเก็บออมสำหรับใช้จ่ายในอนาคต”

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
 

NEWS & TRENDS