สลิงชอท มุ่งสร้างวัฒนธรรมการโค้ช ด้วยกลยุทธ์ ‘เสา 4 ต้น’

ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวขององค์กรทั้งรัฐและเอกชนถึงความพร้อมของผู้นำรุ่นถัดไป คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงกลุ่ม ‘คนเจนวาย’ (Generation Y) ซึ่งหมายถึง ผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2523 ถึง 2537 เป็นกลุ่มที่ต้องการเหตุผลในทุกเรื่อง กล้าแสดงออก มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความมั่นใจในตัวเอง ..



          ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวขององค์กรทั้งรัฐและเอกชนถึงความพร้อมของผู้นำรุ่นถัดไป คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงกลุ่ม ‘คนเจนวาย’ (Generation Y) ซึ่งหมายถึง ผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2523 ถึง 2537 เป็นกลุ่มที่ต้องการเหตุผลในทุกเรื่อง กล้าแสดงออก มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความมั่นใจในตัวเอง ชอบได้รับและให้ข้อมูลป้อนกลับ ตรงไปตรงมา มีแรงต้านทานต่อคำวิจารณ์ ต้องการความรวดเร็ว ต้องการได้รับความสนใจในเชิงบวก และต้องใช้จิตวิทยาในการมอบหมายงานมากกว่าการสั่งงานเพียงอย่างเดียว

          วสุธร หาญนภาชีวิน ผู้ให้คำปรึกษาผู้บริหารระดับสูง ด้านการพัฒนาภาวะผู้นำและพัฒนาองค์กร สลิงชอท กรุ๊ป เปิดเผยว่า คนเจนวาย ไม่ชอบให้คนมาบอก ตรงกันข้าม จะรู้สึกภูมิใจมากและผูกพันกับองค์กรและหัวหน้างาน หากได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็น ได้คิดเอง ทำเอง

        ซึ่งสอดคล้องกับหลักการในการโค้ช (Coaching) ที่ปัจจุบันไม่ใช่การสอน (Teaching) อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการตั้งคำถาม กระตุ้นให้เกิดความคิด เพื่อค้นพบแนวทางการแก้ปัญหา หรือพัฒนาศักยภาพที่ซ่อนอยู่อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดวิธีหนึ่ง ดังนั้น หากเราดึงวิธีการโค้ชเข้าเป็นตัวชูโรงในการกระตุ้นศักยภาพของผู้นำรุ่นใหม่ ทำซ้ำๆจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร จะได้ทั้งคนเก่งและคนมีไฟในการทำงาน แต่ถ้าสร้างกรอบในการทำงานตามคำสั่ง หรือใช้การพัฒนาแบบเดิมๆ ก็คงจะสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถไปอย่างน่าเสียดาย  

          “ ในปี 2014 ที่ผ่านมา International Coach Federation หรือ ICF ได้ทำการสำรวจพบว่า องค์กรที่มีวัฒนธรรมการโค้ชที่แข็งแกร่ง มักมีระดับความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร และผลประกอบการทางธุรกิจที่ดีกว่าองค์กรที่ยังไม่มีวัฒนธรรมการโค้ช  ซึ่งวัดได้จาก 6 ด้าน ได้แก่

        ผู้บริหารระดับสูงเห็นคุณค่าของการโค้ช พนักงานเห็นคุณค่าในการโค้ช รู้สึกว่าองค์กรมีวัฒนธรรมการโค้ชที่แข็งแกร่ง มีงบประมาณในการโค้ชที่วางแผนไว้ ให้เวลากับการโค้ชภายในองค์กรมากกว่าองค์กรทั่วไป ตลอดจนมีโค้ชภายในองค์กรที่ได้รับประกาศนียบัตร สลิงชอท กรุ๊ป จึงมุ่งใช้กลยุทธ์ เสา 4 ต้น เพื่อตอบโจทย์นี้

       อันได้แก่ 1. สร้างทัศนคติ และการให้ความสำคัญของผู้นำและพนักงานต่อการโค้ช 2. สร้างความรู้และทักษะที่ใช้ในการโค้ชให้คนในองค์กร ผ่านการฝึกอบรมและปฏิบัติจริง 3. ออกแบบแนวทางการโค้ชที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมของแต่ละองค์กร และ 4.ฝังเสาหลักที่เป็นกระบวนการโค้ชให้อยู่ในการทำงานในทุกวันแบบเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะผลักดันให้องค์กรต่างๆสร้างและรักษาวัฒนธรรมการโค้ชที่แข็งแกร่ง เพื่อเจียระไนคนเจนวายสู่การเป็นผู้นำที่มีคุณภาพ ” วสุธร กล่าว                              

            ทั้งนี้ การสร้างวัฒนธรรมการโค้ชในองค์กร เปรียบเสมือนกับการสร้างบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งต้องคำนึงถึงความแข็งแรงตั้งแต่รากฐานของตัวบ้านไปจนถึงหลังคา เพื่อให้ได้บ้านที่สมบูรณ์แบบตรงตามความต้องการมากที่สุด องค์กรและผู้บริหารจึงมีความจำเป็น ที่ต้องเข้าใจตรงกันว่า เป้าหมาย ที่องค์กรต้องการสร้างวัฒนธรรมการโค้ช หรือ บ้านหลังนี้ ขึ้นมาเพื่ออะไร 

NEWS & TRENDS