สสว.เผยดัชนี SMEs แนวโน้มดีขึ้นทุกภาคธุรกิจ

สสว. รายงานดัชนีฯ SMEs เดือน ก.พ.2558 ผู้ประกอบการทั่วประเทศ เชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าแนวโน้มดีขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มค้าส่งสินค้าเกษตร


 
    สสว. รายงานดัชนีฯ SMEs เดือน ก.พ.2558 ผู้ประกอบการทั่วประเทศ เชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าแนวโน้มดีขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มค้าส่งสินค้าเกษตร สถานีบริการน้ำมันและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงบริการขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้า มีความเชื่อมั่นเพิ่มสูงสุด ผลจากเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ซึ่งจะกระตุ้นทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ ผนวกกับปัจจัยบวกจากการลงทุนในประเทศ ค่าครองชีพ การท่องเที่ยว การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ที่ปรับตัวดีขึ้น จะเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจของ SMEs ปรับตัวดีขึ้น
         
    ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index: TSSI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการลดลงอยู่ที่ 40.3 จากระดับ 48.9 (ลดลง 8.6) ซึ่งเป็นการลดลงทั้งภาคการค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ผลจากการบริโภคภายในประเทศยังอยู่ในภาวะซึมตัว รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

    ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 56.5 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.1  57.8 และ 56.8 จากระดับ 50.4  43.0 และ 44.7 (เพิ่มขึ้น 1.7  14.8 และ 12.1) ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 72.1 และ 66.4 จากระดับ 50.3 และ 37.8 (เพิ่มขึ้น 21.8 และ 28.6) ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีโดยภาพรวมและรายภูมิภาค โดยมีค่าดัชนีอยู่ในระดับที่เกินกว่าค่าฐานที่ 50 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ SMEs ในทุกภาคธุรกิจทั่วประเทศ มีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจและเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศรวมถึงต่อธุรกิจตนเอง ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่ดี ผลจากจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะกระตุ้นการบริโภคให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน การเดินทางท่องเที่ยวรวมถึงกลับภูมิลำเนาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของ SMEs รวมถึงเศรษฐกิจประเทศโดยภาพรวม

    เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าเกษตร มีค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 54.2 จากระดับ 49.7 (เพิ่มขึ้น 4.5) ภาคค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นในระดับสูงอยู่ที่ 64.8 และ 62.9 จากระดับ 40.7 และ 42.4 (เพิ่มขึ้น 24.1 และ 20.5) ภาคบริการ กิจการขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นในระดับสูงอยู่ที่ 66.7 และ 61.3 จากระดับ 40.0 และ 39.8 (เพิ่มขึ้น 26.7 และ 21.5) ตามลำดับ

    ในส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคเดือน ก.พ. เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ม.ค. พบว่า ค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าทุกภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภูมิภาคที่ค่าดัชนีคาดการณ์เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ค่าดัชนีอยู่ที่ 63.6 จากระดับ 40.3 (เพิ่มขึ้น 23.3) รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 59.9 จากระดับ 42.9 (เพิ่มขึ้น 17.0) ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 58.2 จากระดับ 45.8 (เพิ่มขึ้น 12.4) กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 54.0 จากระดับ 44.2 (เพิ่มขึ้น 9.8) และภาคใต้ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51.0 จากระดับ 48.6 (เพิ่มขึ้น 2.4)

    อย่างไรก็ดี สถานการณ์เศรษฐกิจโดยภาพรวมยังมีปัจจัยเกื้อหนุนมาจาก การลงทุนภายในประเทศปรับตัวในทิศทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยเดือน ก.พ. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว จำนวน 2.69 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.61 และเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 22 เดือน นับจากเดือน เม.ย.2556 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs ในระยะต่อไป 


NEWS & TRENDS