รัฐบาลผลักดันระบบพร้อมเพย์ มิติใหม่การโอนเงินของประเทศสู่ยุคดิจิทัล ดีเดย์ 15 ก.ค.นี้ ตั้งเป้าประชาชนสะดวก ลดการทุจริต กำชับทุกธนาคารและส่วนราชการเตรียมพร้อม เชื่อมโยงข้อมูล ลดความซ้ำซ้อน
รัฐบาลผลักดันระบบพร้อมเพย์ มิติใหม่การโอนเงินของประเทศสู่ยุคดิจิทัล ดีเดย์ 15 ก.ค.นี้ ตั้งเป้าประชาชนสะดวก ลดการทุจริต กำชับทุกธนาคารและส่วนราชการเตรียมพร้อม เชื่อมโยงข้อมูล ลดความซ้ำซ้อน
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลผลักดันบริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ “พร้อมเพย์ (Promptpay)” หรือชื่อเดิม Any ID หนึ่งในโครงการหลักภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย
“ระบบพร้อมเพย์ คือ บริการที่ทุกคนสามารถโอนเงินให้แก่ผู้อื่นโดยไม่ต้องสอบถามเลขที่บัญชีธนาคาร ช่วยเพิ่มความสะดวกด้วยการจัดให้มีระบบข้อมูลกลาง หรือถังข้อมูล เชื่อมบัญชีธนาคารทุกธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และเลขประจำตัวประชาชนเข้าด้วยกัน จึงสามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์และเลขประชาชนอ้างอิงแทนได้ และบัญชีเงินฝากนั้นยังคงใช้โอนเงินได้ตามปกติ โดยในระยะแรกจะเริ่มให้บริการระหว่างบุคคลก่อน จากนั้นจะขยายไปยังนิติบุคคล
ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.59 เป็นต้นไป รัฐบาลจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนพร้อมเพย์ ผ่านระบบข้อมูลกลางของธนาคารทุกแห่ง โดยต้องเตรียมข้อมูลหรือเอกสารหลักฐาน 3 อย่าง คือ 1) เลขที่บัตรประชาชน 2) หมายเลขโทรศัพท์มือถือ 3) เลขที่บัญชีธนาคาร ไปแจ้งกับธนาคารที่เปิดบัญชีไว้ และประชาชนสามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการผูกบัญชีได้ตลอดเวลา”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า สำหรับประโยชน์ของระบบพร้อมเพย์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของภาครัฐคือ ช่วยลดความยุ่งยากของหน่วยงาน และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับเงินเร็วขึ้น เช่น การใช้ประโยชน์จากเลขประชาชน 13 หลัก รับเงินสวัสดิการจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการคืนภาษีเข้าบัญชีได้ทันที ไม่ต้องส่งเช็คขีดคร่อม การรับเงินชดเชยช่วยเหลือเกษตรกร การรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินบำนาญ เบี้ยหวัด ฯลฯ
นอกจากนี้ บุคคลทั่วไปยังสามารถโอนเงินให้กันโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์แทนเลขบัญชีธนาคาร เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ และค่าธรรมเนียมอาจถูกกว่าการโอนเงินโดยใช้เลขบัญชี ผ่านเครื่องเอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ต หรือแอพพลิเคชัน
“ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก เพราะถือเป็นมิติใหม่ของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศ ช่วยให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น รัฐสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือได้ตรงกลุ่มเป้าหมายและประเมินผลได้ง่าย เพิ่มความโปร่งใส ลดการทุจริต การโกงภาษี และลดต้นทุนการบริหารจัดการธนบัตร
โดยได้กำชับให้ธนาคารของรัฐทุกแห่งเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับระบบดังกล่าว และขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งร่วมดำเนินการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งสั่งการให้กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนของเลขประชาชน 13 หลักในอนาคต”
