โฆษกรัฐบาลวอนคนไทยเปลี่ยนวิธีคิด ร่วมกันสร้างสรรค์พาชาติก้าวหน้า

โฆษกรัฐบาลเผยการปฏิรูป-สร้างความปรองดอง เป็นเดิมพันของคนทั้งชาติ ไม่เฉพาะรัฐบาลและ คสช. วอนคนไทยเปลี่ยนวิธีคิด ร่วมกันสร้างสรรค์พาชาติก้าวหน้า ยกเรื่องทุจริตเป็นตัวอย่างที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน


โฆษกรัฐบาลเผยการปฏิรูป-สร้างความปรองดอง เป็นเดิมพันของคนทั้งชาติ ไม่เฉพาะรัฐบาลและ คสช. วอนคนไทยเปลี่ยนวิธีคิด ร่วมกันสร้างสรรค์พาชาติก้าวหน้า ยกเรื่องทุจริตเป็นตัวอย่างที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน

วันนี้ (21 มกราคม 2560) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่มีการกล่าวอ้างจากสื่อมวลชน นักวิชาการ และนักการเมือง ว่า เรื่องของการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง เป็นเดิมพันสูงยิ่งของรัฐบาลและ คสช. นั้น

“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ทุกเรื่องที่พูดมาทั้งหมดไม่ใช่เดิมพันของรัฐบาลหรือ คสช. แต่เป็นเดิมพันของคนไทยทุกคนที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด อาชีพใด ต้องช่วยกันคือ การเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ คิดอย่างสร้างสรรค์พาชาติก้าวไปข้างหน้า ไม่โยนภาระให้ใครคนใดคนหนึ่ง และต้องลงมือทำ ไม่ใช่พูดเพียงอย่างเดียว”

พลโท สรรเสริญ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังได้ยกตัวอย่างเรื่องการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ว่า เป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่รัฐบาลปฏิรูปอย่างจริงจังเพื่อลดความสูญเสียของประเทศอย่างยั่งยืน โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ คนโกงรายเก่าจะต้องหมดไป คนโกงรายใหม่ต้องไม่เกิด และไม่เปิดโอกาสให้มีการโกงในทุกวงการ จนล่าสุดดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในเดือน ธ.ค.59 ที่สำรวจโดย ม.หอการค้าไทย อยู่ในระดับ 55 ซึ่งดีที่สุดในรอบ 6 ปี หลังจากคนโกงถูกปิดโอกาส โดยยอดการจ่ายเงินใต้โต๊ะลดลงเหลือร้อยละ 15 จากที่เคยขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 90

“สำหรับกรณีปมทุจริตจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ที่อาจเกี่ยวข้องกับ บรัษัทการบินไทย และบริษัท ปตท นั้น รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้สั่งการให้มีการตรวจสอบและหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ พร้อมกับวางแนวทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ เอกชน และประชาชน ต้องไม่ทุจริตเสียเองและไม่ผลักภาระให้กับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลต่อคะแนนและการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่จะจัดอันดับปลายเดือน ม.ค.นี้ เพราะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในอดีตตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งสังคมก็คงต้องมองย้อนกลับไปพิจารณาดูว่าเป็นยุคสมัยใด”

NEWS & TRENDS