​รมว.คลัง จี้แบงก์ลดส่วนต่างดอกเบี้ย SME สูงกว่ารายใหญ่

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยขอให้ธนาคารพาณิชย์ทบทวนการคิดดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่สูงกว่ารายใหญ่ ซึ่งปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่คิดดอกเบี้ย 1-2% แต่คิดดอกเบี้ยรายย่อยและ SME 7-8% หรือเกิดส่วนต..




    นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยขอให้ธนาคารพาณิชย์ทบทวนการคิดดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่สูงกว่ารายใหญ่ ซึ่งปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่คิดดอกเบี้ย 1-2% แต่คิดดอกเบี้ยรายย่อยและ SME 7-8% หรือเกิดส่วนต่าง 5-6% ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีต้นทุนทางการเงินสูงกว่า เกิดความไม่เท่าเทียมกัน

    ทั้งนี้ ยอมรับว่าการคิดส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังไม่สามารถไปบังคับได้ แต่ก็เป็นเรื่องของจิตสำนึกที่ธนาคารพาณิชย์สามารถคิดได้ว่าการคิดดอกเบี้ยสูงไม่เป็นธรรมหรือไม่ “ไปบังคับธนาคารพาณิชย์ให้คิดดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่ำกว่าที่เป็นอยู่ไม่ได้ แต่เป็นเรื่องของตลาดและธนาคารพาณิชย์สามารถคิดได้เอง” นายอภิศักดิ์ กล่าว

    ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าตามที่ รมว.คลัง ต้องการให้สถาบันการเงินแก้ไขปัญหาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่มีความแตกต่างระหว่างรายเล็กและรายใหญ่ว่า เป็นปัญหาสะสมมาเป็นเวลานาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภาคการเงิน

    สำหรับนโยบายของธปท. ในการแก้ไขปัญความเหลื่อมล้ำนั้น จะประกอบด้วย การให้ภาคสถาบันการเงินยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันภาคการเงินจะต้องมีความมั่นคง บริหารความเสี่ยงที่ดีโดยไม่รับความเสี่ยงมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริม และสนับสนุนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของภาคการเงินที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ธปท. และสถาบันการเงิน จะร่วมกันแถลงมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนอย่างครบวงจร ในทุกมิติด้วย

    นายวิรไทกล่าวอีกว่า ส่วนกระแสเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ว่า สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย ยอมรับว่า ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ขณะที่เงินทุนไหลออกจากกลุ่มตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยในปัจจุบัน เนื่องจาก ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยชัดเจน ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

    “แม้ว่าจะเริ่มเห็นเงินไหลออกมากขึ้น แต่นักลงทุนอย่าวางใจ เพราะเงินทุนเคลื่อนย้ายจะมีประเด็นจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ซึ่งถือว่าคาดเดาได้ยาก ดังนั้นนักลงทุนจะต้องบริหารความเสี่ยง”นายวิรไท กล่าว

 

NEWS & TRENDS