สสว.เผยดัชนีความเชื่อมั่น SME ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจัยการเลือกตั้ง

สสว.เผยดัชนีความเชื่อมั่น SME ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 101.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่อยู่ระดับ 99.6 สาเหตุเนื่องจากประชาชนเดินทางกลับไปเลือกตั้งประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม ส่งผลให้มีการเดินทางท่องเที่ยวสูงกว่าปกติ และเป็นช่วงเร่งซ่อมแซมอาคารและโรงเรือนภาคกา..




     สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) ประจำเดือนมีนาคม 2562 โดยสุ่มสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการของ SME ทั่วประเทศ จำนวน 1,400 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนี TSSI ประจำเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 101.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่อยู่ระดับ 99.6 ซึ่งความเชื่อมั่นกลับมาเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าฐานที่ระดับ 100 อีกครั้ง มีสัญญาณที่ดีจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น

     โดยดัชนี TSSI เดือนมีนาคม 2562 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากองค์ประกอบด้านยอดจำหน่ายและกำไรเป็นหลัก สาเหตุเนื่องจากประชาชนเดินทางกลับไปเลือกตั้งประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอม ส่งผลให้มีการเดินทางท่องเที่ยวสูงกว่าปกติ และเป็นช่วงเร่งซ่อมแซมอาคารและโรงเรือนภาคการเกษตร อย่างไรก็ตามประชาชนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย จะใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น

     สำหรับดัชนี TSSI ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 101.6 จากระดับ 99.6 ในไตรมาสก่อน ผู้ประกอบการกลับมามีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับดีในรอบ 12 เดือน จากการใช้จ่ายในเทศกาลต่างๆ ในไตรมาสที่ 1 และความหวังจากการเลือกตั้ง


     โดยสาขาธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี คือ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีค่าเกินค่าฐานที่ 100 ได้แก่ สาขาค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ค้าปลีกสถานีบริการน้ำมัน บริการด้านสุขภาพและความงาม การท่องเที่ยว สันทนาการ/วัฒนธรรม/การกีฬา ด้านการขนส่งสินค้า ขนส่งมวลชน โรงแรม/เกสต์เฮาส์/บังกะโล และร้านอาหาร/ภัตตาคาร


     สำหรับดัชนี TSSI คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 99.6 ผู้ประกอบการยังคง มีความกังวล เนื่องจากประชาชนยังคงไม่ใช้จ่ายตามปกติ กำลังซื้อลดลง ผู้ประกอบการรอดูรัฐบาลใหม่ที่จะมาให้ความชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ


     โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME ภาคการค้าและบริการ จำนวน 1,400 วิสาหกิจทั่วประเทศ

     ด้านการลงต้นทุน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐดูแลราคาสาธารณูปโภคให้มีความเหมาะสมกับต้นทุน ควรมีมาตรการลดหย่อนภาษีช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน มีโครงการเงินกู้ให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น มีแนวทางที่จะสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจ พร้อมทั้งขยายช่องทางในการกู้ยืม/ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ควรยกเลิกภาษีซ้ำซ้อนที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ควบคุมด้านราคาเชื้อเพลิง การลดภาษีการนำเข้า และเน้นส่งเสริมการส่งออกมากขึ้น การลดดอกเบี้ย/ภาษี สำหรับรถยนต์ออกใหม่ การปรับค่าจ้างแรงงาน การปรับโครงสร้างหนี้/แก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน

     ด้านแรงงาน ต้องการให้พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีความเหมาะสมกับค่าแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้น พัฒนาทางด้านการศึกษาให้เยาวชนมีความรู้ความสามารถสอดคล้องกับตลาดแรงงานในปัจจุบัน ดูแลค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมกับต้นทุนของผู้ประกอบการ

     ด้านท่องเที่ยว ต้องการให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดมากขึ้นเพื่อเป็นการกระจายรายได้ออกสู่ภูมิภาค และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวใหม่เพิ่มเติมให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เร่งหามาตรการในการรักษาความปลอดภัยในการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

NEWS & TRENDS