ทีพลาส 2019 ขนทัพโซลูชันแห่งอนาคต ยกระดับอุตสาหกรรมยาง – พลาสติกไทย

ทีพลาส 2019 ขนทัพโซลูชันแห่งอนาคต ยกระดับอุตสาหกรรมยาง – พลาสติกไทย พร้อมแข่งขันตลาดโลก




     เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย ผู้จัดงานเมกะเทรดแฟร์ระดับนานาชาติ เผยความสำเร็จ ทีพลาส 2019 สุดยอดมหกรรมเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและยางครั้งยิ่งใหญ่ ที่รวบรวมเทคโนโลยีและโซลูชั่นสุดล้ำ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์สมัยใหม่ วัสดุการผลิต ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป และระบบการจัดการเพื่ออุตสาหกรรมพลาสติกและยางพารา จากผู้จัดแสดงสินค้า 138 ราย โดย 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้จัดแสดงสินค้าจากต่างประเทศ งานจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติดังกล่าวจัดขึ้นทุก 2 ปี


      ซึ่งในปี 2562 นี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าชมงานจำนวนกว่า 8,820 คน จาก 60 ประเทศทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2560 นอกจากนี้ ผู้จัดงานมั่นใจงานเทรดแฟร์ทีพลาส 2019 จะช่วยยกระดับการผลิตในอุตสาหกรรมชั้นนำของไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น พร้อมเดินหน้าขนทัพโซลูชัน และงานสัมมนาวิชาการทางด้านวิศวกรรมพลาสติก เตรียมจัดงานในอีก 2 ปีข้างหน้า ยิ่งใหญ่กว่าเดิม เพื่อเป้าหมายการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตพลาสติก และยางแห่งภูมิภาคเอเชีย


     มร.เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า งานจัดแสดงสินค้าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมระดับนานาชาติ “ทีพลาส 2019” ได้จบลงไปอย่างสวยงาม โดยในปีนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าชมงานคุณภาพที่เพิ่มขึ้นเกือบ 10เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 8,820 คน จาก 60 ประเทศทั่วโลก ในหลากหลายวงการอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม อุตสาหกรรมการแพทย์และเภสัช อุตสาหกรรมแท่นพิมพ์และแม่พิมพ์ ตลอดจนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยงานดังกล่าวสามารถบรรลุวัตถุประสงค์การผลักดันอุตสาหกรรมยาง และพลาสติกไทยให้พร้อมแข่งขันในตลาดสากลได้ตามเป้าหมายการจัดงาน ดังนี้
 

  • มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจในภาคการผลิตพลาสติกในภูมิภาคเอเชีย

      ด้วยการจัดแสดงสินค้าที่ครอบคลุมการผลิตพลาสติกทั้งวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทั้งผู้จัดหาวัตถุดิบ ผู้ผสม ผู้แปรรูป ไปจนถึงผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภค งานทีพลาส 2019 จึงได้รับความเชื่อมั่นจากผู้จัดแสดงสินค้านานาชาติจำนวน 138 ราย ทั้งรายเก่า และรายใหม่จากหลายหลายประเทศ ในการเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าในปีนี้ ซึ่งทีพลาส 2019 สามารถเพิ่มศักยภาพการดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่กำลังมองหาโซลูชันการผลิตและแปรรูปยาง - พลาสติกที่เหมาะกับธุรกิจได้อย่างมหาศาล
 
  • ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผ่านฟอรัมแลกเปลี่ยนความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำวงการธุรกิจพลาสติก

     นอกเหนือจากเทคโนโลยีและโซลูชันการผลิตยาง - พลาสติกที่หลากหลาย ภายในงานยังมีฟอรัมแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างเครือข่ายธุรกิจระดับโลก ได้แก่ งานสัมมนาด้านวิศวกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์ โดยความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมิวนิค และเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จำกัด อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรทางวิชาการ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ โดยงานสัมมนาวิชาการดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียน และงานประชุมพลาสติกพิเศษ โดยบริษัทชั้นนำด้านการผลิตพลาสติก ได้แก่ โบรูช (Borouge) แพลนติก-คูเรเรย์ (Plantic-Kuraray) โพลีพลาสติกส์ (Polyplastics) และโพลีวัน (PolyOne) ซึ่งได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการผลิตพลาสติกแบบอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชนิดพิเศษ


            ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของการจัดงานทีพลาสในทุกครั้งที่ผ่านมา คือความมุ่งมั่นผลักดันอุตสาหกรรมยางและพลาสติกในประเทศไทยให้มีศักยภาพโดดเด่นในระดับภูมิภาค โดยการดึงกลุ่มผู้จัดแสดงสินค้าชั้นนำระดับโลก กลุ่มผู้ประกอบการระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ตลอดจนจัดหาตลาดที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการพบปะทางธุรกิจให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการจัดงานแสดงสินค้าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมระดับโลก มร.เกอร์นอท กล่าวทิ้งท้าย


                มร.ฟรานซิส ลี ผู้อำนวยการฝ่ายขาย Liaoning Aihai Talc Co Ltd. เปิดเผยว่า ในฐานะของผู้จัดแสดงสินค้าและโซลูชันในงานทีพลาส 2019 เป็นครั้งแรก คิดว่าประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางสำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมพลาสติก เนื่องจากชื่อเสียงของประเทศในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตพลาสติกชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบูธแสดงสินค้าและโซลูชันของบริษัทได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการตอบคำถามด้านการขายภายในบูธเป็นจำนวนมาก ภายในเวลาจัดแสดงสินค้าเพียงแค่ไม่กี่วัน อีกทั้งเชื่อมั่นว่าการจัดแสดงสินค้าที่งานทีพลาส 2019 จะเพิ่มโอกาสการรับรู้ในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมพลาสติกในระดับสากล และสามารถเพิ่มจำนวนยอดขายได้ในอนาคต


            ด้าน ดร.มาร์คัส เอเบลนแคมป์ ประธานสถาบันวิศวกรรมโพลิเมอร์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมิวนิค ผู้จัดงานสัมมนาวิศวกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์ร่วมกับเมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวเพิ่มว่า งานสัมมนาวิศวกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์เป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญในการขยายการรับรู้และความเข้าใจต่อการพัฒนางานวิจัย และพัฒนาคุณภาพการผลิตชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์เพื่อการแพทย์ เพื่อตอบรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ในไทยที่กำลังเติบโต อีกทั้งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) โดยงานสัมมนาดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดี และคาดว่าจะสามารถพัฒนาต่อยอดงานทางด้านวิศวกรรมพลาสติกเพื่อการแพทย์ในอนาคตได้
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

NEWS & TRENDS